วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ประเพณีภาคใต้

โดยนางสาวปรียาภรณ์ ภัยมณี

ประเพณีภาคใต้


ประเพณีลอยเรือ



ความสำคัญ

ประเพณีลอยเรือเป็นประเพณีที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษดั้งเดิมของชาวอูรักลาโวย ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกระบี่และจังหวัดใกล้เคียง เมื่อถึงเวลาที่กำหนดสมาชิกในชุมชนและญาติพี่น้องที่แยกย้ายถิ่นไปทำมาหากิน ในแถบทะเล และหมู่เกาะต่าง ๆ ในทะเลอันดามันจะพากันเดินทางกลับมายังถิ่นฐาน เพื่อประกอบพิธีนี้

พิธีกรรม 

ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ช่วงเช้า ชาวเลจะเดินทางไปบริเวณที่จะทำพิธี ผู้หญิงจะทำขนม ผู้ชายจะสร้างและซ่อมแซมที่พักชั่วคราว ช่วงเย็น ทั้งหญิงและชายจะไปรวมกันที่ศาลบรรพบุรุษเพื่อนำอาหารเครื่องเซ่นไปเซ่นไหว้ บรรพบุรุษเป็นการบอกกล่าวให้มาร่วมพิธีลอยเรือ เช้าของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ผู้ชายส่วนหนึ่งเดินทางไปตัดไม้ เพื่อนำไม้มาทำเรือผู้หญิงจะร้องรำทำเพลง ในขณะที่รอรับไม้บริเวณชายฝั่ง แล้วขบวนแห่จะแห่ไม้ไปวนรอบศาลบรรพบุรุษเพื่อนำกลับมาทำเรือ "ปลาจั๊ก" คืนวันขึ้น ๑๔ ค่ำ มีพิธีฉลองเรือโดยมีการรำรอบเรือ เพื่อถวายวิญญาณบรรพบุรุษโดยใช้ดนตรีและเพลงรำมะนาประกอบวงหนึ่งและอีกวงจะ เป็นการรำวงแบบสมัยใหม่มีดนตรีชาโดว์ประกอบการร้องรำ โต๊ะหมอจะทำพิธีในช่วงเริ่มฉลองเรือและมีพิธีสาดน้ำตอนเที่ยงคืน (เลฮฺบาเลฮฺ) และทำพิธีอีกครั้งในช่วงเช้าตรู่วันขึ้น ๑๕ ค่ำ ก่อนนำเรือไปลอยในทิศทางลมซึ่งแน่ใจว่าเรือจะไม่ลอยกลับเข้าฝั่ง หลังจากนั้นแยกย้ายกันนอนพักผ่อน บ่ายวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ผู้ชายส่วนหนึ่งแยกย้ายไปตัดไม้และหาใบกะพร้อเพื่อทำไม้กันผีสำหรับทำพิธี ฉลองในเวลากลางคืน โดยมีพิธีกรรมเหมือนกับพิธีฉลองเรือทุกประการ จนกระทั่งใกล้จะสว่างโต๊ะหมอจะทำพิธีเสกน้ำมนต์ทำนายโชคชะตา และสะเดาะเคราะห์ให้สมาชิกที่เข้าร่วมพิธีก่อนจะอาบน้ำมนต์ และแยกย้ายกันกลับบ้านโดยนำไม้กันผีไปปักบริเวณรอบหมู่บ้านด้วย

ประเพณีลอยเรือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษอันเกี่ยว เนื่องกับตำนานความเชื่อความเป็นมาและวิถีชีวิตทุกอย่างของชาวเลอูรักลาโวย การจัดพิธีฉลองเรือก็เพื่อการสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณกลับสู่บ้านเมืองเดิม และการส่งสัตว์ไปไถ่บาป  เรือปลาจั๊กที่ทำขึ้นในพิธีลอยเรือ ทำจากไม้ตีนเป็ดและไม้ระกำเป็นสัญลักษณ์ของ "ยาน" ที่จะนำวิญญาณของคนและสัตว์ไปสู่อีกภพหนึ่ง มีชิ้นไม้ระกำที่สลักเสลาอย่างสวยงามเป็นรูปลักษณ์ต่าง ๆ ประดับประดาอยู่ในเรือ รูปนกเกาะหัวเรือ หมายถึง "โต๊ะบุหรง" บรรพบุรุษผู้ซึ่งสามารถห้ามลมห้ามฝน ลายฟันปลา หมายถึง "โต๊ะบิกง" บรรพบุรุษที่เป็นฉลาม ลายงูหมายถึง "โต๊ะอาโฆะเบอราไตย" บรรพบุรุษที่เป็นงู ฯลฯ ในเรือยังมีตุ๊กตาไม้ระกำทำหน้าที่นำเคราะห์โศกโรคภัยของสมาชิกในแต่ละครอบ ครัวเดินทางไปกับเรือและเครื่องเซ่นต่าง ๆ ที่จะให้วิญญาณบรรพบุรุษนำติดตัวไปยังถิ่นฐานเดิมที่เรียกว่า "ฆูนุงฌึไร" การร่ายรำแบบดั้งเดิมผสมผสานกับบทเพลงเก่าแก่และดนตรีรำมะนา เป็นส่วนประกอบที่เร้าใจและเป็นการรำถวายต่อบรรพบุรุษ ทุกคนที่รำเชื่อว่าจะได้บุญ โต๊ะหมอผู้นำทั้งทางโลกและทางธรรม เชื่อว่าเป็นผู้ที่สามารถสื่อสารกับพระผู้เป็นเจ้าและวิญญาณบรรพบุรุษได้ ผู้ที่ผ่านพิธีลอยเรือถือว่าจะเป็นผู้ที่ผ่านทุกข์โศกโรคภัยไปหมดแล้ว ชีวิตต่อไปข้างหน้าจะประสบแต่ความสุขและโชคดีในการทำมาหากิน



งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ



ความสำคัญ 

งานประเพณีแห่พระแข่งเรือ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน และเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น โดยเฉพาะการขึ้นโขนชิงธง ที่นายท้ายเรือต้องถือท้ายเรือให้ตรงเพื่อให้นายหัวเรือคว้าธงที่ทุ่นเส้น ชัย โดยการขึ้นโขนเรือ

พิธีกรรม 

การแข่งเรือของอำเภอหลังสวนเริ่มมีครั้งแรกในสมัยพระยาจรูญราชโภคากร เป็นเจ้าเมืองหลังสวน เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีเศษ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นการลากพระชิงสายกันในแม่น้ำ โดยใช้เรือพายเป็นเรือดึงลากแย่งกัน วัด หรือหมู่บ้านใดมีเรือมากฝีพายดี ก็แย่งพระไปได้ อัญเชิญพระไปประดิษฐานไว้ในวัดที่ตนต้องการ มีงานสมโภชอย่างสนุกสนานในตอนกลางคืน รุ่งเช้าถวายสลากภัต ต่อมาสมัยหลวงปราณีประชาชน อำมาตย์เอก ได้ดัดแปลงให้มีสัญญาณในการปล่อยเรือโดยใช้เชือกผูกหางเรือคู่ที่จะแข่ง ให้เรือถูกพายไปจนตึงแล้วใช้มีดสับเชือกที่ผูกไว้ให้ขาด ลักษณะของเรือที่ใช้แข่งในปัจจุบันขุดจากไม้ซุง (ตะเคียน) ทั้งต้น ยาวประมาณ ๑๘-๑๙ เมตร มีธงประจำเรือติดอยู่ เรือแข่งจะแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ฝีพาย ๓๐ คน และฝีพาย ๓๒ คน ฝีพายจะนั่งกันเป็นคู่ ยกเว้นนายหัวกับนายท้าย เรือแต่ละลำจะมีฆ้องหรือนกหวีดเพื่อตีหรือเป่าให้จังหวะฝีพายได้พายอย่าง พร้อมเพรียงกัน รางวัลสำหรับการแข่งขันในสมัยก่อน เรือที่ชนะจะได้รับผ้าแถบหัวเรือ ส่วนฝีพายจะได้รับผ้าขาวม้าคนละผืน ต่อมาเป็นการแข่งขันชิงน้ำมันก๊าด เพื่อนำไปถวายวัด เพราะเรือส่วนใหญ่เป็นเรือของวัด และตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๗ เป็นต้นมา เป็นการแข่งขันเพื่อชิงโล่พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กติกาการปล่อยเรือและการเข้าเส้นชัยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์ เช่น ในปัจจุบันมีการแบ่งสายน้ำโดยการจับสลาก กำหนดระยะทางที่แน่นอน คือ ๕๐๐ เมตร มีเรือเข้าร่วมแข่งขันทั้งเรือในท้องถิ่นจังหวัดชุมพรเอง และเรือจากต่างจังหวัด สถานที่คือวัดด่านประชากร

สาระ 
แสดงถึงความสามัคคีและความพร้อมเพรียงที่แสดงออกในรูปของการกีฬา และเป็นการสืบทอดประเพณีอันยาวนานของท้องถิ่น


ประเพณีขึ้นถ้ำวัดถ้ำเขาขุนกระทิง

ความสำคัญ 
ประเพณีขึ้นถ้ำเป็นประเพณีที่มีการสืบทอดกันมาแต่อดีต นิยมจัดขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรด้วยมีความเชื่อว่าการทำนาหรือ กิจกรรมการเกษตรที่ประสบความสำเร็จได้เกิดจากการดลบันดาลของสิ่ง ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย การขึ้นถ้ำจึงเป็นพิธีกรรมใช้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมักเป็นพระพุทธรูปของวัดเพื่อแสดงความกตัญญูและเป็นนิมิตรหมายที่ดีให้ แก่ชีวิต

พิธีกรรม 
เปิดให้มีการสักการะ และปิดทองพระพุทธรูปภายในถ้ำ โดยทางวัดจัดบริการจำหน่ายดอกไม้ ธูป เทียน เพื่อหารายได้ให้วัด อาจมีการจัดมโหสพ เช่น มโนราห์ ควายชน การละเล่นพื้นเมือง และร้านค้าจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ

สาระ 

การนมัสการขึ้นถ้ำปิดทองเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องทุกปีเช่นเดียว กับ กิจกรรมตามเทศกาลอื่น ๆ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้คนได้ร่วมทำบุญ และหารายได้ให้วัดเพื่อใช้จ่ายใน กิจกรรมต่าง ๆ อันเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ตลอดไป


  
ถือศีลกินเจ



ช่วงเวลา 
การถือศีลกินเจของชาวตรังตรงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ ถึง ๙ ค่ำ เดือน ๙ ของจีน (ตรงกับเดือน ๑๑ ของไทย ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคมทุกปี) โรงศาลเจ้าทุกโรงจะกำหนดการกินเจพร้อมกัน การประกอบพิธีกรรมจะใช้สถานที่บริเวณโรงศาลเจ้าของแต่ละแห่ง

ความสำคัญ 

พิธีถือศีลกินเจจะเป็นพิธีที่มีความสำคัญดังนี้ 
๑. เป็นการบำเพ็ญศีล สมาทานกินเจ บริโภคแต่อาหารผักและผลไม้ เป็นการละเว้นการทำบาป ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต รักษาศีลทำจิตใจให้บริสุทธิ์ งดการเที่ยวเตร่ ไม่ดื่มของมึนเมา ผู้ศรัทธาที่กินเจจะสวมเสื้อผ้าสีขาวและสวดมนต์ทำสมาธิภาวนาแผ่เมตตาจิต ขอพรให้ตนเองและครอบครัว
๒. เป็นการสะเดาะเคราะห์ปัดเป่าความชั่วร้าย โรคภัยไข้เจ็บให้ออกไปจากตัวผู้ที่ถือศีลกินเจ
๓. เกิดความสามัคคีในหมู่ผู้ที่ศรัทธาที่เข้าร่วมพิธีถือศีลกินเจ ต่างก็ยิ้มแย้มเป็นมิตรมีไมตรีต่อกัน มีการบริจาคทรัพย์สำหรับเป็นค่าอาหารและค่าใช้จ่ายในโรงครัว เพื่อให้มีอาหารเพียงพอ มีอาสาสมัครมาช่วยงานทำงานครัวเป็นจำนวนมาก

พิธีกรรม 
ประเพณีถือศีลกินเจเป็นประเพณีที่มีการผสมผสานของลัทธิความเชื่อต่าง ๆ หลายลัทธิ ได้แก่ ลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื่อ ลัทธิการนับถือเทวะ และพุทธศาสนานิกายมหายาน 

การประกอบพิธีกรรม 

๑. ก่อนพิธีหนึ่งวัน จะมีการทำความสะอาดศาลเจ้า รมกำยาน ไม้หอม และยกเสาธงเต๊งโก ไว้หน้าศาล เพื่ออัญเชิญดวงวิญญาณของเจ้า พอถึงเวลาเที่ยงคืนจะประกอบพิธีอัญเชิญยกอ๋องฮ่องเต้ และกิวอ๋องไตเต้มาเป็นประธานในพิธี พร้อมกับแขวนตะเกียงน้ำ ๙ ดวง ซึ่งหมายถึงดวงวิญาณขององค์กิวอ๋องไตเต้ เป็นอันว่าพิธีกินเจได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว หลังจากพิธีรับเจ้าเข้ามาเป็นประธานในศาลแล้ว ก็จะทำพิธีวางกำลังทหารรักษาการณ์ตามทิศต่าง ๆ 

๒. การเตรียมการกินเจ ผู้ศรัทธาที่จะร่วมถิอศีลกินเจจะทำความสะอาดภาชนะเครื่องใช้ในการประกอบ อาหารให้สะอาดหมดกลิ่นคาว จัดแยกเครื่องใช้ไว้เฉพาะไม่ปะปนกับเครื่องใช้ทั่วไป บางบ้านจะนำภาชนะชุดใหม่มาประกอบอาหารและใส่อาหารเจ บางบ้านจะรับอาหารจากโรงปรุงของศาลเจ้า 

๓. พิธีกรรมตลอด ๙ วัน ของการกินเจ มีดังนี้
๓.๑ พิธีบูชาเจ้า ทำในวันแรก บูชาด้วยเครื่องเซ่นต่าง ๆ ทั้งที่ศาลเจ้า และที่บ้านของผู้ที่กินเจ เมื่อกินเจครบสามวัน ถือว่าผู้กินเจได้ชำระร่างกาย จิตใจ อารมณ์ ได้สะอาดบริสุทธิ์
๓.๒ พิธีโขกุ้น เป็นพิธีเลี้ยงทหารที่รักษาการณ์ตามทิศต่าง ๆ จะทำพิธีในวัน ๓ ค่ำ ๖ ค่ำ และ ๙ ค่ำ มีอาหารและเหล้าเซ่นสังเวยเลี้ยงทหาร
๓.๓ พิธีซ้องเก็ง เป็นพิธีการสวดมนต์ พิธีนี้จะเริ่มตั้งแต่องค์กิวอ๋องไตเต้ เข้ามาประทับในศาลและจะกระทำกันทุก ๆ วันวันละ ๒ ครั้ง ในตอนเช้าและตอนค่ำ
๓.๔ พิธีบูชาดาว จะทำในคืนวัน ๗ ค่ำเพื่อขอความคุ้มครองให้แก่ผู้กินเจ ในพิธีบูชาดาว จะมีการแจกฮู้ (กระดาษยันต์) เพื่อคุ้มครองผู้กินเจ
๓.๕ พิธีแห่เจ้า (ออกเที่ยว) เป็นพิธีที่เจ้าทั้งหมดออกเยี่ยมลูกหลานตามบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคลและปัดเป่าความชั่วร้าย ศาลเจ้าแต่ละโรงจะออกเยี่ยมไม่พร้อมกัน พิธีนี้จะจัดเป็นริ้วขบวน แห่แหนไปตามถนนสายต่าง ๆ บรรดาชาวบ้านที่จะศรัทธาจะตั้งโต๊ะเครื่องเซ่นไหว้ไว้รับพระและจุดประทัด เมื่อขบวนผ่าน เจ้าองค์ที่เข้าประทับทรงจะแสดงอิทธิฤทธิ์อภินิหารโดยใช้ของมีคม เหล็กแหลม ทิ่มแทงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
๓.๖ พิธีลุยไฟ เพื่อแสดงอิทธิฤทธิ์ของเจ้า จึงมีการก่อกองไฟให้เป็นถ่านแดงระอุร้อน เจ้าที่เข้าประทับคนทรงจะเข้าไปวิ่งลุยผ่านกองไฟ เพื่อแสดงให้เห็นความบริสุทธิ์และอิทธิฤทธิ์ ผู้ที่ถือศีลกินเจก็จะเข้าไปลุยไฟด้วยเพื่อให้ไฟทิพย์ชำระร่างกายให้ บริสุทธิ์
๓.๗ พิธีส่งพระ ทำกันในวันสุดท้ายของการกินเจ พิธีนี้แบ่งออกเป็น ๒ ภาค คือภาคกลางวันจะส่งเทวดาเง็กเซียนฮ่องเต้ ซึ่งทำกันที่เสาธง และภาคกลางคืนจะส่งองค์กิวอ๋องไตเต้ ซึ่งจะทำกันตอนเที่ยงคืน โดยผู้กินเจจะเดินไปส่งกันที่ฝั่งน้ำเพราะเจ้าจะกลับสวรรค์ทางทะเล และทันทีที่คณะส่งเจ้าออกพ้นประตูศาลไฟทุกดวงจะต้องดับสนิท แล้วปิดประตูใหญ่ รุ่งขึ้นจะลดเสาธง เรียกทหารพร้อมกับเลี้ยงทหารและส่งกลับ เสร็จแล้วก็เปิดประตูใหญ่เมื่อได้ฤกษ์ตามวัน/เวลาที่เจ้าสั่งไว้

สาระ 
พิธีกินเจ เป็นพิธีที่แสดงออกถึงการละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และเว้นอบายมุขทั้งหมด และเป็นพิธีก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่สมาชิกที่มาร่วมพิธี



ประเพณีอาบน้ำคนแก่


ช่วงเวลา
ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ เดือนเมษายน (เดือน ๕) ของทุกปี ซึ่งจะเลือกทำวันไหนก็ได้ จะเป็นตอนเช้า หรือตอนบ่ายเป็นไปตามการนัดหมายของแต่ละครอบครัว แต่ละบ้านโดยนัดหมายสถานที่และวันเวลาไว้ล่วงหน้าเป็นประจำทุกปี ซึ่งอาจเป็นที่บ้านหรือที่วัดก็ได้ตามความเหมาะสม 

ความสำคัญ 

ประเพณีอาบน้ำคนแก่เป็นวิธีการแสดงออกซึ่งความเคารพนับถือ แก่บิดามารดา และญาติคนแก่ (ผู้อาวุโส) ของตระกูล รวมทั้งผู้มีพระคุณและบุคคลที่ตนเคารพนับถือ

พิธีกรรม 
๑. การขอขมา
เมื่อเชิญคนแก่ทั้งหลายนั่งในโรงพิธีเรียบร้อยแล้ว ลูกหลานและชาวบ้านที่มาร่วมพิธี จะรวมกลุ่มยืนอยู่ด้านหน้าของคนแก่ทั้งหลาย ผู้นำในพิธีนำดอกไม้และจุดธูปเทียนพนมมือ แล้วกล่าวขอขมา ทุกคนว่าตามดังนี้
"กายกรรมสาม วจีกรรมสี่ มโนกรรมสาม หากข้าพเจ้าทั้งหลายเกิดประมาทพลาดพลั้งแก่ท่าน ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ไม่เจตนาก็ดี ขอให้ท่านอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด และขอได้โปรดอำนวยพรให้ข้าพเจ้าทั้งหลาย มีความสุขความเจริญตลอดไป และขอตั้งจิตอธิษฐานขอให้ท่านเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดไป
๒. พิธีการอาบน้ำ
การอาบน้ำเป็นการตักน้ำมารดอาบให้คนแก่จนเปียกโชกทั้งตัว ปัจจุบันบางหมู่บ้านได้ปรับเปลี่ยนวิธีการในการอาบน้ำ มารดน้ำที่มือทั้งสองของคนแก่แทนเพราะคนแก่ที่มีอายุมาก มีลูกหลานและผู้ที่เคารพนับถือมาก พิธีการอาบน้ำต้องใช้เวลานานจึงแล้วเสร็จ คนแก่เหล่านั้นอาจรู้สึกหนาวสะท้าน ซึ่งเป็นเหตุให้เจ็บป่วยเป็นไข้ได้
ลูกหลานจะเข้าแถวตักน้ำที่เตรียมไว้ในโอ่ง มารดที่มือหรือที่ตัวคนแก่ และมอบเครื่องนุ่งห่มเครื่องใช้ให้คนแก่พร้อมกับขอพร คนแก่ก็จะให้พรลูกหลาน การอาบน้ำจะทำไปตามลำดับจนครบทุกคน
เมื่อเสร็จพิธี ลูกหลานจะนำเสื้อผ้าชุดใหม่มาผลัดเปลี่ยนให้คนแก่ ทาแป้ง หวีผม แต่งตัวให้ เป็นอันเสร็จพิธีการอาบน้ำ

สาระ 
ประเพณีอาบน้ำคนแก่ เป็นภูมิปัญญาในการเชื่อมสายใยของครอบครัวให้สาระสำคัญหลายประการคือ
๑. เป็นประเพณีที่มีบทบาทในการควบคุมคนในสังคมให้วางตนให้เหมาะสมตามฐานะของคน คือเมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ที่ดีเพื่อให้คนเคารพนับถือ เมื่อเป็นผู้น้อยก็ต้องแสดงความเคารพ และมีความกตัญญูต่อผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ
๒. เป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ซึ่งได้แก่ คนแก่ในตระกูล บิดามารดา ตลอดจนผู้ที่ตนเคารพนับถือทั้งหลาย
๓. เกิดความผูกพันในวงศาคณาญาติ สร้างความสนิทสนมกลมเกลียวรักใคร่กันในตระกูลยิ่งขึ้น การพบปะกันในระหว่างญาติพี่น้อง สร้างความอบอุ่นปลาบปลื้มใจให้แก่คนแก่ของตระกูลที่ได้เห็นความเป็นปึกแผ่น ของลูกหลาน


ประเพณีให้ทานไฟ



ช่วงเวลา
การให้ทานไฟ ส่วนใหญ่จะปฏิบัติในช่วงเดือนยี่ เป็นช่วงเวลาที่อากาศหนาวเย็นที่สุด โดยชาวบ้านจะนัดหมายไปพร้อมกันในเวลาย่ำรุ่ง หรือตอนเช้ามืดของวันไหนก็ได้ 

ความสำคัญ
 
การให้ทานไฟ เป็นการทำบุญเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์เกิดความอบอุ่นในตอนเช้ามืดของคืนที่มี อากาศหนาวเย็น โดยใช้ลานวัดเป็นที่ก่อกองไฟแล้วทำขนมถวายพระ ประวัติความเป็นมาของประเพณีให้ทานไฟ กล่าวถึงในขุนทกนิกายชาดก เรื่อง ความตระหนี่ถี่เหนียวของโกลิยะเศรษฐี ที่อยากกินขนมเบื้อง แต่เสียดายเงินไม่ยอมซื้อและไม่อยากให้ลูกเมียได้กินด้วย ภรรยาจึงทำขนมเบื้องที่บ้านชั้นเจ็ดให้เศรษฐีได้รับประทานโดยไม่ให้ผู้ใด เห็น ขณะที่สองสามีภรรยากำลังปรุงขนมเบื้อง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร ทรงทราบด้วยญาณ จึงโปรดให้พระโมคคัลลานะไปแก้นิสัยของโกลิยะเศรษฐี พระโมคคัคลานะตรงไปบนตึกชั้นเจ็ดของคฤหาสน์เศรษฐี เศรษฐีเข้าใจว่าจะมาขอขนม จึงแสดงอาการรังเกียจและออกวาจาขับไล่ แต่พระโมคคัคลานะพยายามทรมานเศรษฐีอยู่นานจนยอมละนิสัยตระหนี่ พระโมคคัลลานะได้แสดงธรรมเรื่องประโยชน์ของการให้ จนโกลิยะเศรษฐีและภรรยาเกิดความเลื่อมใส ได้นิมนต์มารับถวายอาหารที่บ้านตน พระโมคคัลลานะแจ้งให้นำไปถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวก ๕๐๐ รูป ณ เชตวันมหาวิหาร โกลิยะเศรษฐีและภรรบาได้นำเข้าของเครื่องปรุงไปทำขนมเบื้องถวายพระพุทธเจ้า และพระสาวก แต่ปรุงเท่าไหร่แป้งที่เตรียมมาเพียงเล็กน้อยก็ไม่หมด พระพุทธเจ้าจึงโปรดเทศนาสั่งสอน ทั้งสองคนเกิดความปีติอิ่มเอิบในการบริจาคทาน เห็นแจ้งบรรลุธรรมชั้นโสดาบัน

พิธีกรรม 
๑. การก่อกองไฟ ชาวบ้านจะเตรียมไม้ฟืน ถ่าน หรือเตาไฟ สำหรับก่อให้เกิดความร้อนและความอบอุ่นแก่พระสงฆ์ บางแห่งนิยมใช้ไม้ฟืนหลายอันมาซ้อนกันเป็นเพิงก่อไฟ แล้วนิมนต์พระสงฆ์มานั่งผิงไฟ เพื่อให้เกิดความอบอุ่นทั้งพระสงฆ์และชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียง 
๒. การทำขนมถวายพระ ขนมที่เตรียมไปปรุงที่วัดในการให้ทานไฟเป็นขนมอะไรก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะนิยมขนมที่สามารถปรุงเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว ขนมส่วนมากจะปรุงโดยใช้ไฟแรงและเป็นขนมพื้นบ้าน เช่น ขนมเบื้อง ขนมครก ขนมครกข้าวเหนียว ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมจาก ชนมจู่จุน ข้าวเหนียวกวนทอด ในปัจจุบันมีขนมและอาหารเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เช่น น้ำชา กาแฟ หมี่ผัด ข้าวต้ม ข้าวเหนียวหลาม ขนมปังปิ้ง ชาวบ้านจะปรุงขนมตามที่เตรียมเครื่องปรุงมา แล้วนำขนมที่ปรุงขึ้นมาร้อน ๆ ไปถวายพระสงฆ์ ขณะที่ทำขนมกันไป พระสงฆ์ก็ฉันไปพร้อม ๆ กัน จะหยุดปรุงขนมก็ต่อเมื่อเครื่องปรุงที่เตรียมมาหมด เมื่อพระสงฆ์ฉันอิ่มแล้ว ชาวบ้านจึงร่วมกันรับประทานกันอย่างสนุกสนาน หลังจากพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว ก็สวดให้ศีลให้พรแก่ผู้ที่มาทำบุญเป็นอันเสร็จพิธี


สาระ 
ประเพณีให้ทานไฟมีสาระสำคัญที่มีคุณค่าแก่ตนเองและสังคม ดังนี้
๑. เป็นโอกาสหนึ่งที่ได้นัดหมายพร้อมกันในตอนเช้ามืด เพื่อร่วมทำบุญเลี้ยงพระ รวมทั้งร่วมรับประทานอาหารกัน เป็นการสร้างความสามัคคีในหมู่คณะได้ดียิ่ง
๒. ทำให้มีสุขภาพพลานามัยดี แข็งแรง เพราะการตื่นนอนตอนเช้าตรู่ ได้รับอากาศบริสุทธิ์ ทำให้มีความสดชื่นเบิกบาน
๓. การได้ปฏิบัติตามประเพณี ย่อมทำให้เกิดความสุขใจ เบิกบานใจในผลบุญที่ตนได้กระทำ อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานของตนด้วย

ประเพณีลากพระ (ชักพระ)



ช่วงเวลา
วันลากพระ จะทำกันในวันออกพรรษา คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยตกลงนัดหมายลากพระไปยังจุดศูนย์รวม วันรุ่งขึ้น แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ จึงลากพระกลับวัด 

ความสำคัญ 

เป็นประเพณีทำบุญในวันออกพรรษา ปฏิบัติตามความเชื่อว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนไปรับเสด็จ แล้วอัญเชิญพระพุทธเจ้าประทับบนบุษบกแล้วแห่แหน

พิธีกรรม 
๑. การแต่งนมพระ 
นมพระ หมายถึงพนมพระเป็นพาหนะที่ใช้บรรทุกพระลาก นิยมทำ ๒ แบบ คือ ลากพระทางบก เรียกว่า นมพระ ลากพระทางน้ำ เรียกว่า "เรือพระ" นมพระสร้างเป็นร้านม้า มีไม้สองท่อนรองรับข้างล่าง ทำเป็นรูปพญานาค มีล้อ ๔ ล้ออยู่ใต้ตัวพญานาค ร้านม้าใช้ไม้ไผ่สานทำฝาผนัง ตกแต่งลวดลายระบายสีสวย รอบ ๆ ประดับด้วยผ้าแพรสี ธงริ้ว ธงสามชาย ธงราว ธงยืนห้อยระยาง ประดับต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้สดทำอุบะห้อยระย้า มีต้มห่อด้วยใบพ้อแขวนหน้านมพระ ตัวพญานาคประดับกระจกแวววาวสีสวย ข้าง ๆ นมพระแขวนโพน กลอง ระฆัง ฆ้อง ด้านหลังนมพระวางเก้าอี้ เป็นที่นั่งของพระสงฆ์ ยอดนมอยู่บนสุดของนมพระ ได้รับการแต่งอย่างบรรจงดูแลเป็นพิเศษ เพราะความสง่าได้สัดส่วนของนมพระขึ้นอยู่กับยอดนม 
๒. การอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนนมพระ
พระลาก คือพระพุทธรูปยืน แต่ที่นิยมคือ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ พุทธบริษัทจะสรงน้ำพระลากเปลี่ยนจีวร แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนนมพระ แล้วพระสงฆ์จะเทศนาเรื่องการเสด็จไปดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า ตอนเช้ามืดในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ชาวบ้านจะมาตักบาตรหน้านมพระ เรียกว่า ตักบาตรหน้าล้อ เสร็จแล้วจึงอัญเชิญพระลากขึ้นประดิษฐานบนนมพระ ในตอนนี้บางวัดจะทำพิธีทางไสยศาสตร์เพื่อให้การลากพระราบรื่น ปลอดภัย 
๓. การลากพระ
ใช้เชือกแบ่งผูกเป็น ๒ สาย เป็นสายผู้หญิงและสายผู้ชาย โดยใช้โพน (ปืด) ฆ้อง ระฆัง เป็นเครื่องตีให้จังหวะเร้าใจในการลากพระ คนลากจะเบียดเสียดกันสนุกสนานและประสานเสียงร้องบทลากพระเพื่อผ่อนแรง


ตัวอย่าง บทร้องที่ใช้ลากพระสร้อย :
อี้สาระพา เฮโล เฮโล
ไอ้ไหรกลมกลม หัวนมสาวสาว
ไอ้ไหรยาวยาว สาวสาวชอบใจ

สาระ 
ประเพณีลากพระ เป็นการแสดงออกถึงความพร้อมเพรียง สามัคคีพร้อมใจกันในการทำบุญทำทาน จึงให้สาระและความสำคัญดังนี้ 
๑. ชาวบ้านเชื่อว่า อานิสงส์ในการลากพระ จะทำให้ฝนตกตามฤดูกาล เกิดคติความเชื่อว่า "เมื่อพระหลบหลัง ฝนจะตกหนัก" นมพระจึงสร้างสัญลักษณ์พญานาค เพราะเชื่อว่าให้น้ำ การลากพระจึงสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในสังคมเกษตร 
๒. เป็นประเพณีที่ปฏิบัติตามความเชื่อว่า ใครได้ลากพระทุกปี จะได้บุญมาก ส่งผลให้พบความสำเร็จในชีวิต ดังนั้นเมื่อนมพระลากผ่านหน้าบ้านของใคร คนที่อยู่ในบ้านจะออกมาช่วยลากพระ และคนบ้านอื่นจะมารับทอดลากพระต่ออย่างไม่ขาดสาย 
๓. เกิดแรงบันดาลใจ แต่งบทร้อยกรองสำหรับขับร้องในขณะที่ช่วยกันลากพระ ซึ่งมักจะเป็นบทกลอนสั้น ๆ ตลก ขบขัน และโต้ตอบกัน ได้ฝึกทั้งปัญญาและปฏิภาณไหวพริบ




ประเพณีตักบาตรธูปเทียน




ช่วงเวลา
ระยะเวลาของการประกอบพิธีตักบาตรธูปเทียนมีขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำเดือนแปด เวลาประมาณ ๑๖ นาฬิกา ใช้ลานภายในวัดเป็นสถานที่ตักบาตรธูปเทียน

ความสำคัญ 
เป็นการทำบุญด้วยธูปเทียนและดอกไม้ เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาเพื่อให้พระสงฆ์ที่จำพรรษา ได้นำธูปเทียนใช้บูชาพระรัตนตรัยตลอดพรรษา ๓ เดือน


พิธีกรรม
 วันประกอบพิธีตักบาตรธูปเทียน เป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มพิธีเข้าพรรษา พิธีการตักบาตรธูปเทียนจึงเริ่มในตอนบ่าย โดยพระภิกษุสงฆ์และสามเณร ต่างพากันมายืนเรียงแถวในบริเวณลานวัด โดยมีย่ามคล้องแขนทุกรูป เพื่อเตรียมบิณฑบาต เมื่อถึงเวลาบ่ายประมาณ ๑๖ นาฬิกา พุทธศาสนิกชนจะนำธูปเทียน ไม้ขีดไฟ และดอกไม้ มาใส่ย่ามถวายพระสงฆ์เป็นอันเสร็จพิธี 


สาระ 
ความศรัทธาในพระพุทธศาสนามีความสำคัญต่อประเพณีตักบาตรธูปเทียน เป็นประเพณีที่ควรแก่การส่งเสริมให้คงอยู่ การตักบาตรธูปเทียนให้สาระสำคัญดังนี้ 
๑. สะท้อนให้เห็นถึงความยึดมั่นและศรัทธาในการนับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีงามควรรักษาประเพณีไว้สืบไป ชาวนครศรีธรรมราชจึงเตรียมมัดธูป ๓ ดอกและเทียน ๑ เล่มไว้ด้วยกัน เพื่อสะดวกในการตักบาตร แต่คนส่วนใหญ่จะใช้ธูปและเทียนมัดใหญ่ เพื่อให้พระสงฆ์มีธูปเทียนใช้ตลอดพรรษา และสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้คือไม้ขีดไฟ เป็นของเสริม เพื่อให้พระสงฆ์มีอุปกรณ์ครบ รวมทั้งดอกไม้สดชนิดต่าง ๆ 
๒. เป็นการอบรมให้ลูกหลานที่ไปร่วมพิธีตักบาตรธูปเทียนได้มีความรู้ความเข้าใจ ในประเพณีท้องถิ่น และให้ความสุขใจจากบุญกุศลที่ได้ทำ




ประเพณีสารทเดือนสิบ




ช่วงเวลา
ระยะเวลาของการประกอบพิธีสารทเดือนสิบมีขึ้นในวันแรม ๑ ค่ำถึงแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ แต่วันที่ชาวนครศรีธรรมราชนิยมทำบุญคือวันแรม ๑๓-๑๕ ค่ำ

ความสำคัญ 
เป็นความเชื่อของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราช ที่เชื่อว่าบรรพบุรุษอันได้แก่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความชั่วจะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้แต่ละปีมายังชีพ ดังนั้นในวันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบ คนบาปทั้งหลายที่เรียกว่าเปรตจึงถูกปล่อยตัวกลับมายังโลกมนุษย์เพื่อมาขอ ส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง และจะกลับไปนรกในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ ในโอกาสนี้เองลูกหลานและผู้ยังมีชีวิตอยู่จึงนำอาหารไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที


พิธีกรรม 
พิธีกรรมของประเพณีสารทเดือนสิบ มีดังนี้
๑. การจัดหฺมฺรับ 
เริ่มในวันแรม ๑๓ ค่ำ ชาวบ้านจะเตรียมซื้ออาหารแห้ง พืชผักที่เก็บไว้ได้นาน ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และขนมที่เป็นสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบ จัดเตรียมใส่หฺมฺรับ 
การจัดหฺมฺรับ คือ การบรรจุและประดับด้วยสิ่งของ อาหาร ขนมเดือนสิบลงในภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น ถาด กาละมัง เข่ง กระเชอ เป็นต้น ชั้นล่างสุดบรรจุอาหารแห้ง ชั้นสองเป็นพืชผักที่เก็บไว้นาน ชั้นสามเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ขั้นบนสุด ประดับขนมสัญลักษณ์เดือนสิบ ได้แก่ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมแต่ละชนิดมีความหมายดังนี้ 

ขนมลา เป็นเสมือนเสื้อผ้าที่ให้บรรพบุรุษใช้นุ่งห่ม 
ขนมพอง เป็นเสมือนแพที่ให้บรรพบุรุษข้ามห้วงมหรรณพ 
ขนมกง เป็นเสมือนเครื่องประดับ ใช้ตกแต่งร่างกาย 
ขนมบ้า เป็นเสมือนเมล็ดสะบ้า ไว้เล่นในวันตรุษสงกรานต์ 
ขนมดีซำ เป็นเสมือนเงินตรา ไว้ให้ใช้สอย

๒. การยกหฺมฺรับ 
ในวันแรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ ชาวบ้านจะยกหฺมฺรับที่จัดเตรียมไว้ไปวัด และนำภัตตาหารไปถวายพระด้วย โดยเลือกไปวัดที่อยู่ใกล้บ้านหรือวัดที่บรรพบุรุษของตนนิยมไป
๓. การฉลองหฺมฺรับและบังสุกุล
เมื่อนำหมฺรับไปวัดแล้ว จะมีการฉลองหฺมฺรับ และทำบุญเลี้ยงพระเสร็จแล้วจึงมีการบังสุกุล การทำบุญวันนี้เป็นการส่งบรรพบุรุษและญาติพี่น้องให้กลับไปยังเมืองนรก 
๔. การตั้งเปรต 
เสร็จจากการฉลองหมฺรับและถวายภัตตาหารแล้ว ชาวบ้านจะนำขนมอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามบริเวณลานวัด ข้างกำแพงวัด โคนไม้ใหญ่ เรียกว่า ตั้งเปรต เพื่อแผ่ส่วนกุศลเป็นทานแก่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติ หรือญาติไม่มาร่วมทำบุญให้ การชิงเปรตจะทำตอนตั้งเปรตเสร็จแล้ว เพราะเชื่อว่าถ้าหากใครได้กินของเหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ จะได้รับกุศลเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง บางวัดนิยมสร้างหลาเปรต เพื่อสะดวกแก่การตั้งเปรต บางวัดสร้างหลาเปรตไว้บนเสาสูงเพียงเสาเดียว เกลาและชะโลมน้ำมันเสาจนลื่น เมื่อเวลาชิงเปรตผู้ชนะคือผู้ที่สามารถปีนไปถึงหลาเปรตซึ่งต้องใช้ความ พยายามอย่างมาก จึงสนุกสนานและตื่นเต้น


สาระ 
ประเพณีสารทเดือนสิบมีสาระสำคัญหลายประการ ดังนี้ 
๑. เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ได้อบรมเลี้ยงดูลูกหลาน เพื่อตอบแทนบุญคุณ ลูกหลานจึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ 
๒. เป็นโอกาสได้รวมญาติที่อยู่ห่างไกล ได้พบปะทำบุญร่วมกันสร้างความรักใคร่สนิทสนมในหมู่ญาติ 
๓. เป็นการทำบุญในโอกาสที่ได้รับผลผลิตทางการเกษตรที่เริ่มออกผลเพราะเชื่อว่าเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว 
๔. ฤดูฝนในภาคใต้จะเริ่มขึ้นในปลายเดือนสิบ พระภิกษุสงฆ์บิณฑบาตยากลำบาก ชาวบ้านจึงจัดเสบียงอาหารนำไปถวายพระในรูปของหฺมฺรับ ให้ทางวัดได้เก็บรักษาเป็นเสบียงสำหรับพระภิกษุสงฆ์ในฤดูฝน




ประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย




ช่วงเวลา
ประเพณีการแข่งเรือกอและและเรือยาวด้วยฝีพายหน้าพระที่นั่ง ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในระหว่างวันที่ ๒๑-๒๕ กันยายน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์

ความสำคัญ
 
ในการเสด็จแปรพระราชฐานทุกครั้งจะทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในจังหวัดนราธิวาสและ จังหวัดใกล้เคียงทุกหมู่เหล่า ทรงวางโครงการน้อยใหญ่เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้มีความสงบสุข ร่มเย็นด้วยพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯประชาชนชาวจังหวัดนราธิวาสต่างเห็น พ้องต้องกันว่าสมควรจัดให้มีการแข่งขันเรือกอและอันเป็นประเพณีเก่าแก่ของ ชาวจังหวัดนราธิวาสถวายทอดพระเนตรเพื่อเทิดพระเกียรติในพระมหากรุณาธิคุณอัน ล้นพ้นและเป็นการฟื้นฟูประเพณีการแข่งเรือกอและด้วยฝีพาย หน้าพระที่นั่ง และทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดการแข่งขันเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๙ อีกทั้งได้พระราชทานถ้วยรางวัลแก่ทีมเรือที่ชนะการแข่งขันด้วย

สาระ
 
การแข่งขันใช้เรือกอและระยะทาง ๖๕๐ เมตร ผู้ควบคุมลำละ ๑ คน จำนวนฝีพายรวมทั้งนายท้ายไม่เกินลำละ ๒๓ คน และมีฝีพายสำรองไม่เกินลำละ ๕ คน การเปลี่ยนตัวในแต่ละเที่ยวทำได้เที่ยวละไม่เกิน ๕ คน ทั้งนี้ให้ผู้ควบคุมทีมประจำเรือแจ้งให้คณะกรรมการปล่อยเรือทราบ เรือที่เข้าแข่งขันทุกลำต้องถึงจุดเริ่มต้น (จุดปล่อยเรือ) ก่อนเวลาที่กำหนดแข่งขันในรอบนั้น หากไปช้ากว่ากำหนดเกิน ๑๕ นาทีถือว่าสละสิทธิ์จะปรับแพ้ในรอบนั้นได้ ก่อนการได้ยินสัญญาณ ณ จุดเริ่มต้นฝีพายทุกคนยกพายให้พ้นผิวน้ำ ยกเว้นนายท้ายเรือให้ใช้พายคัดท้ายเรือบังคับเรือให้หยุดนิ่ง และจะต้องวิ่งในลู่ของตน หากวิ่งผิดลู่หรือสายน้ำถือว่าผิดกติกาให้ปรับเป็นแพ้ในเที่ยวนั้น เรือที่เข้าถึงเส้นชัยก่อนลำอื่นโดยถือหัวเรือสุดเป็นการชนะการแข่งขันใน เที่ยวนั้น การแข่งขันแบ่งเป็น ๔ รอบ รอบที่ ๑ และรอบที่ ๒ เป็นรอบคัดเลือก รอบที่ ๓ เป็นรอบรองชนะเลิศและรอบที่ ๔ เป็นรอบชิงชนะเลิศ



ชิงเปรต




ช่วงเวลา
วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ และ วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐

ความสำคัญ 
"ชิงเปรต" เป็นประเพณีของภาคใต้ที่กระทำกันในวันสารท เดือน ๑๐ เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า การชิงเปรตที่ปฏิบัติกันในประเพณีสารทเดือน ๑๐ นี้ มีลักษณะคล้ายกับการทิ้งกระจาดของจีน แต่การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรต-ชิงเปรตเพียงบางส่วน เท่านั้น กล่าวคือการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี(เปรต) ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเอง และที่ไม่มีญาติด้วย นอกจากนี้วิธีการปฏิบัติในการทิ้งกระจาดและการชิงเปรตก็แตกต่างกันด้วย ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้ยืนยันว่าการชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรต แต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการทำบุญด้วยซ้ำไป เพราะชื่อว่าบุตรหลานของเปรตตนใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนนั้น เพียงแต่ว่าผู้ชิงต้องระมัดระวังในการที่อาหารหรือขนมที่ตั้งเปรตอาจตกหลาน ลงพื้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสกปรกและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น


พิธีกรรม
 

การตั้งเปรต และชิงเปรตจะกระทำกันในวันที่ยกหมรับไปวัด ไม่ว่าจะเป็นวันแรม ๑ ค่ำ หรือ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ ก็ตาม ผู้ตั้งเปรตจะนำอาหารอีกส่วนหนึ่งไปเพื่อการตั้งเปรตด้วย อาหารที่ใช้ตั้งเปรตนี้ส่วนมากเป็นอาหารที่บรรพบุรุษที่เป็นเปรตชอบอย่างละ นิดอย่างละหน่อย ขนมที่ไม่ขาดคือ ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมเบซำ(ดีซำ) นอกจากขนมดังกล่าวแล้ว ยังมีของแห้งที่ใช้เป็นเสบียงกรังก็จัดฝากไปด้วย เช่น ข้าวสาร หอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล น้ำปลา กล้วย อ้อย มะพร้าว ด้าย เข็มเย็บผ้า ธูปเทียน นำลงจัดในหรับ โดยเอาของแห้งรองก้นและอยู่ภายใน ส่วนขนมทั้งหลายอยู่ชั้นนอก ปิดคลุมด้วยผืนลาทำเป็นรูปเจดีย์ยอดแหลม หรือรูปอื่นแล้วแต่การประดิษฐ์ของผู้จัด ส่วนภาชนะที่ใช้ แต่เดิมนิยมใช้กระเชอหรือถาดนำมารับ ที่จัดแล้วไปวัด รวมกันตั้งไว้บน "ร้านเปรต" ซึ่งสร้างไว้กลางวัดยกเสาสูง ต่อมาในระยะหลัง ๆ ร้านเปรตทำเป็นศาลา หลังคามุงจากหรือมุงกระเบื้องแล้วแต่ฐานะของวัด บางถิ่นจึงเรียก "หลาเปรต" บนร้านเปรตจะมีสายสิญจน์วงล้อมไว้รอบและต่อยาวไปจนถึงพระสงฆ์ที่นั่งอยู่ในวิหารที่เป็นที่ทำพิธีกรรม 

โดยสวดบังสุกุลอัฐิหรือกระดาษเขียนชื่อของผู้ตาย ซึ่งบุตรหลายนำมารวมกันในพิธีต่อหน้าพระสงฆ์ บุตรหลานจะกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปยังเปรตชนที่เป็นบรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว เก็บสายสิญจน์ ขนมต่าง ๆ จะถูกแบ่งออกส่วนหนึ่ง พร้อมกับของแห้งไว้ถวายพระ อีกส่วนหนึ่งให้เปรตชนที่พอมีกำลังเข้ามาเสพได้ ในขณะเดียวกันผู้ที่มาร่วมทำบุญทั้งหนุ่มสาว เฒ่าแก่ และโดยเฉพาะเด็ก ๆ จะเข้าไปรุมกันแย่งขนมที่ตั้งเปรตด้วยความสนุกสนาน เชื่อกันว่า การแย่งขนมเปรตที่ผ่าการทำพิธีแล้วนี้จะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว และยังเชื่อกันต่อไปว่าขนมเหล่านี้ถ้านำไปหว่านในสวนในนา จะทำให้พืชผลอุดมสมบูรณ์เพิ่มผลผลิตสูง โดยเฉพาะขนมเทียน บางแห่งนำไปติดไว้ตามต้นไม้ผลเพื่อให้มีผลดก หลังจากนั้น ก็มักมีผู้ใจบุญโปรยทาน โดยใช้เหรียญสตางค์โดยไปที่ละมากเหรียญ ตรงไปยังฝูงชน ที่เรียกว่า "หว่านกำพรึก" แย่งกันอย่างสนุกสนาน



สาระ 
การทำบุญวันสารท เดือน ๑๐ กำหนดทำ ๒ ครั้ง คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ และวันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ โดยเชื่อว่า วันแรม ๑ ค่ำ เป็นวันที่ยมบาลปล่อยให้เปรต หรือเปตชนขึ้นมาเยี่ยมลูกหลาน ๆ ก็จะทำบุญเลี้ยงต้อนรับ เมื่อถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ ก็ถือว่าเป็นวันที่ปู่ย่าตายาย ต้องกลับยมโลก ลูกหลานก็ทำบุญเลี้ยงส่งอีกครั้งหนึ่ง 
การเตรียมข้าวของ ขนม ในวันทำบุญ เดือน ๑๐ 
๑. ลา มีความหมายใช้แทนเสื้อผ้า 
๒. พอง มีความหมายว่าเป็นเครื่องประดับ 
๓. ขนมเบซำ (ขนมเจาะหู) ใช้แทนเงิน หรือสตางค์มีรูในสมัยก่อน
๔. ขนมบ้า มีความหมายว่า เงินเหรียญ
๕. ขนมเทียน ใช้แทนหมอนหนุน



การแข่งโพน



ช่วงเวลา
ปลายเดือนสิบ ก่อนประเพณีชักพระ

ความสำคัญ
 
วัดต่าง ๆ เตรียมทำบุษบก หุ้มโพน และเริ่มการคุมโพนเพื่อเป็นการประกาศให้ชาวบ้านรู้ว่า ทางวัดจะจัดให้มีการชักพระ ต่อมามีการโต้เถียงเกี่ยวกับเสียงโพน จึงคิดเล่นสนุกสนานมากขึ้น มีการท้าพนันกันบ้างว่า ผู้ตีโพนคนใดเรี่ยวแรงดีที่สุด ลีลาท่าทางการตีดีที่สุด โพนวัดใดเสียงดังมากที่สุด จึงมีการแข่งขันตีโพนกันขึ้น ในระยะ แรก ๆ เข้าใจว่า คงตีแข่งขันภายในวัดและค่อยขยายออกมาภายนอกวัด เพิ่มจำนวนโพนขึ้น จัดประเภทและมีกติกามากขึ้น การคิดเล่นสนุกสนานเหล่านี้ ทำให้มีการแข่งโพนกันอย่างกว้างขวางในระยะหลัง และกลายเป็นประเพณีท้องถิ่นที่สืบต่อกันมา ปัจจุบันการแข่งโพนเป็น กิจกรรมการละเล่นที่สำคัญของจังหวัดพัทลุง

พิธีกรรม 
การแข่งโพนแบ่งได้เป็น ๒ อย่าง คือ 
๑. แข่งมือ ตัดสินให้ผู้ตีที่มีกำลังมือดีกว่าเป็นฝ่ายชนะ โดยให้ตีจนผู้ใดอ่อนล้าก่อนเป็นฝ่ายแพ้ ปัจจุบันไม่นิยมเพราะทำให้เสียเวลามาก 
๒. แข่งเสียง ตัดสินให้โพนที่มีเสียงดังกว่าเป็นฝ่ายชนะ การแข่งขันจะเป็นแบบพบกันหมดหรือแพ้คัดออกก็ได้ จับสลากแข่งขันเป็นคู่ ๆ ใช้ผู้ตีฝ่ายละ ๑ คน กรรมการ ๓ - ๕ คน ตัดสินให้คะแนน โดยอยู่ห่างจากสถานที่ตีไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร ณ สถานที่ตี กรรมการควบคุมการตีและคุมเวลา เรียกคู่โพนเข้าประจำที่ ลองตีก่อนฝ่ายละประมาณ ๓๐ วินาที เพื่อดูว่าโพนฝ่ายใดมีเสียงทุ้ม และโพนฝ่ายใดมีเสียงแหลม จากนั้นเริ่มให้ทั้งคู่ตีพร้อมกันภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งโดยมากจะใช้เวลา ๑๐ - ๑๕ นาที ขณะที่โพนกำลังตีแข่งขันอยู่นั้น กรรมการฟังเสียงทั้งหมดจะตั้งใจฟังเสียงโพนแล้วตัดสินให้โพนที่มีเสียงดัง กว่าเป็นฝ่ายชนะ โดยถือเอาเสียงข้างมากของกรรมการเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน


สาระ 
การแข่งขันโพน นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันกับพิธีการทางศาสนาบางประการแล้ว กิจกรรมการละเล่นชนิดนี้ยังช่วยให้มองเห็นการแสวงหาความสุข ความบันเทิงใจ อีกทั้งยังเป็นสื่อในการประสานความสัมพันธ์ทางสังคม ทำให้ชาวบ้านมีโอกาสพบปะสัมพันธ์กัน เป็นกิจกรรมการละเล่นที่สำคัญนำมาสู่การสร้างสรรค์ ความสามัคคีในชุมชน จึงควรอนุรักษ์ให้ การละเล่นชนิดนี้คงอยู่ตลอดไป



ประเพณีการเดินเต่า


ช่วงเวลา
เวลาที่เต่าทะเลหลายชนิดขึ้นมาวางไข่บนหาด เมื่อถึงฤดูวางไข่คือประมาณ เดือน ๑๑ แรม ๑ ค่ำ ราวปลายเดือนตุลาคม หรือต้นเดือนพฤศจิกายน ไปจนถึงเดือน ๔ ราว ๆ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนก่อนหรือหลังเวลาที่ว่ามานี้มีบ้างเล็กน้อย
ความสำคัญ 

ประเพณีการเดินเต่า คือการเดินหาเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย ซึ่งแหล่งที่มีการเดินเต่าทางภาคใต้นั้นมีหลายแหล่ง โดยเฉพาะบริเวณที่มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่คือบริเวณชายฝั่ง แถวฝั่งทะเลด้านตะวันตก หรือชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ทางตะวันตกของจังหวัดพังงา ซึ่งเป็นหาดทรายที่มีความยาวโดยตลอดร่วม ๑๐๐ กิโลเมตร ซึ่งในบริเวณชายฝั่งทะเลนั้น จะมีเต่าทะเลหลายชนิดขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย เมื่อถึงฤดูวางไข่ ชนิดของเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่ตามชายฝั่งตะวันตกนี้มีหลายชนิด ซึ่งชาวบ้านเรียกกันหลายชื่อได้แก่ เต่ากระ เต่าเฟือง เต่าเล็ก เต่าหางยาว เป็นต้น ในแต่ละปีเต่าทะเลแต่ละชนิดจะขึ้นมาวางไข่ ๔ ครั้ง การวางไข่ของเต่าทะเลนั้นมีนิสัยที่แปลกประหลาดและน่าสนใจกว่าสัตว์อื่น ๆ ตรงที่จะขึ้นมาวางไข่ประจำที่หรือประจำหาด ทั้ง ๆ ที่ทะเลนั้นกว้างใหญ่ไพศาล เป็นต้นว่าเต่าทะเลตัวใด ที่ขึ้นมาวางไข่ที่หาดไหนคราวต่อไปก็ขึ้นมาวางไข่ตรงที่หาดนั้นทุกครั้งไป เป็นประจำทุกปี อาจยกเว้นว่าบางครั้งมันอาจขึ้นมาพบคนรบกวนก็อาจต้องเปลี่ยนไปที่หาดอื่น บริเวณใกล้ ๆ กัน เนื่องจากลักษณะของเต่าทะเลพิศดารอย่างนี้ ชาวบ้านในสมัยก่อนจึงสามารถเก็บไข่เต่าได้ โดยอาศัยความทรงจำของเต่าให้เป็นประโยชน์ เพราะว่าเต่าทะเลแต่ละตัวหากขึ้นวางไข่ที่ใดแล้ว หลังจากนั้นไปเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ หรือ ๒ สัปดาห์ เต่าตัวเดิมนี้ จะขึ้นมาวางไข่อีกที่หาดเดิม แต่ตำแหน่งที่คลานขึ้นมาวางไข่จะห่างจากที่เคยขึ้นวางไข่ครั้งก่อนราว ๑๐-๒๐ เมตร อาจเป็นเพราะว่ามันกลัวจะไปขุดถูกหลุมไข่ที่เคยวางไว้แล้ว ก็เป็นได้

 ส่วนเวลาไหนนั้นชาวบ้านจะต้องคำนวณโดยการนับน้ำว่าวันที่ครบกำหนดวางไข่นั้น เป็นวันข้างขึ้นหรือแรมกี่ค่ำ ก็พอรู้ได้ว่าเวลาเท่าไรที่น้ำขึ้นครึ่งฝั่งน้ำลงครึ่งฝั่ง ซึ่งเป็นเวลาที่เต่าขึ้นวางไข่ จากนั้นก็สามารถเอาตะกร้าไปรอรับไข่เต่าได้ถูกต้องโดยไม่ต้องเดินไปเดินมา และไม่ต้องเสียเวลาหาหลุมไข่เต่าในตอนหลัง เช่นครั้งที่ ๑ ขึ้นมาวางไข่ในแรม ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ ครั้งต่อไปก็จะขึ้นวางอีกในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (หลังจากครั้งก่อน ๗ วัน) หรืออาจไม่ขึ้นมาวางไข่ในวันดังกล่าวนี้ ก็จะขึ้นมาวางไข่ในวันขึ้น ๗ ค่ำเดือน ๑๒ (หลังจากครั้งก่อน ๑๔ วัน) จากปากคำของชาวบ้านที่เคยได้สัมปทานไข่เต่าหรือเรียกกันในภาษาเดิมว่า "ผูกเต่า" บอกว่าใช้วิธีนี้ทำให้ไม่ต้องเดินให้เมื่อยเลย อาจจนอนอยู่ที่บ้านแล้วพอถึงเวลาที่คำนวณไว้ก็ค่อยเดินไปนั่งรอที่จุดนั้น ๆได้ และมักจะถูกต้องเสมอทุกคราวไป แต่ในปัจจุบันนี้ ประเพณีการเดินเต่าไม่มีแล้ว เพราะว่าประชาชนในท้องถิ่นได้ร่วมมือกันอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำชายฝั่งทะเล อันดามัน ได้แก่ เต่าทะเล เป็นต้น ถ้าบุคคลใดฝ่าฝืนใน ถือเป็นการทำผิดกฎหมายถูกดำเนินคดีทางกฎหมายได้

พิธีกรรม
ประเพณีการเดินเต่าจะทำกันในตอนกลางคืน ซึ่งเริ่มตั้งแต่พลบค่ำจนสว่าง สำหรับคนรุ่นใหม่ ๆ นั้นหากไม่ค่อยมีความรู้ ก็อาจเดินหาตามความยาวของหาดทราย ระยะทางหลายกิโลเมตร โดยไม่เจอไข่เต่า แม้แต่หลุมเดียว (หลุมรัง) ก็เป็นได้ แต่สำหรับคนรุ่นก่อน ๆ นั้นมีเคล็ดในการหาไข่เต่าหลายอย่าง อย่างแรก คือเวลาที่เต่าจะขึ้นมาวางไข่ เต่าจะขึ้นมาวางไข่เมื่อไหร่นั้นให้ดูได้คือ
๑. ให้ดูดาวเต่า ดาวเต่านี้จะประกอบด้วยดาวหลายดวงซึ่งคนที่ชำนาญจะมองเห็นเป็นรูปเต่า ตำแหน่งที่ดาวเต่าเริ่มหันหัวลงทางทิศตะวันตก คือดาวเต่าเริ่มคล้อยลง (คล้าย ๆ กับดวงอาทิตย์ตั้งแต่เวลา ๑๙.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป) เมื่อดาวเต่าหันหัวลงทะเลก็เป็นเวลาที่เดินเต่าได้ คนโบราณเชื่อว่าเต่าจะขึ้นมาวางไข่เวลานี้
๒. ให้ดูน้ำ หมายถึงน้ำทะเลขึ้นลงนั่นเอง หากว่าน้ำขึ้นครึ่งฝั่ง หรือน้ำลงครึ่งฝั่ง ก็เป็นเวลาที่เต่าทะเลจะขึ้นมาวางไข่ ไม่ปรากฏว่าเต่าทะเลขึ้นมาขณะน้ำลดน้ำขึ้นมา
ดังนั้น เต่าทะเลก็มีกำหนดเวลาขึ้นวางไข่ในเวลาที่ไม่ซ้ำกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นวันข้างขึ้นหรือข้างแรม กี่ค่ำที่ทำให้น้ำขึ้นลงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ

สาระ 
ประเพณีการเดินเต่า ชาวบ้านในท้องถิ่นพบเต่าทะเลที่กำลังขึ้นมาวางไข่ก็รู้ได้จากรอยคลานของเต่า ที่ปรากฏ อยู่บนหาดทราย ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดเจน เพราะมันจะใช้ทั้ง ๒ คู่สับลงบนพื้นทรายแล้วลากตัวขึ้นมา จึงปรากฏรอยในลักษณะที่คล้ายรอยของรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก โดยปรากฏเป็นทาง ๒ ทาง คือทางขึ้น ๑ ทาง ทางลงอีก ๑ ทาง จากรอยนี้ก็บอกได้ว่าต้องมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ แต่การหาหลุมที่เต่าวางไข่นั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะว่าหาดทรายกว้าง ชาวบ้านในสมัยก่อนที่มีความรู้ มีวิธีสังเกตเพื่อหาหลุมไข่เต่าหลายวิธี ได้แก่ 

๑. ดูปลายทราย หมายถึงให้สังเกตทรายที่เต่าขุดขึ้นมาแล้วสาดไปโดยรอบลำตัวขณะที่ขุดหลุมวาง ไข่ จะปรากฏให้เห็นเป็นแนวโดยรอบ ๆ หลุมในระยะพอสมควร ซึ่งพอสันนิษฐานได้ว่าบริเวณที่อยู่จากถัดจากปลายทรายเข้าไปนั้น ต้องเป็นหลุมไข่เต่า แต่บางครั้งก็ไม่แน่นอนเพราะเต่ามักมีการพรางหรือหลอกโดยการสาดทราย หลาย ๆ จุด แต่ไม่ได้วางไข่จริง ๆ จะดูว่าเต่ามันหลอกเราหรือไม่นั้นก็ดูทรายที่สาด หากเป็นทรายเปียกหรือจับเป็นก้อนเล็ก ๆ แสดงว่าเป็นบริเวณหลุมที่วางไข่จริง เพราะเป็นทรายที่ขุดจากทรายชั้นล่าง หรือจากก้นหลุม
๒. ใช้ไม้ปลายแหลมแทงหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "สัก" ลงไปตามพื้นทรายให้ลึกประมาณ ๒ ฟุต แล้วสังเกตว่า ไม้ที่แทงนั้นผิดปกติหรือไม่ หากผิดปกติ เช่น แทงลงโดยง่าย ทันทีอาจแทงบนหลุมเต่าก็ได้ อาจทดสอบได้ด้วยการดมปลายไม้ดู หากแทงถูกหลุมวางไข่จะมีกลิ่นคาวของไข่เต่าติดปลายไม้ขึ้นมา
๓. ถ้าเป็นเวลากลางวันให้ดูแมลงวันว่าไปตอมบริเวณใด เพราะแมงวันจะไปตอมบริเวณที่วางไข่ ซึ่งมีคาวเมือกขณะที่เต่าทะเลวางไข่ตกอยู่
หากทั้ง ๓ วิธีไม่สามารถหาหลุมวางไข่ ชาวบ้านสมัยก่อนใช้วิธีสุดท้าย คือสังเกตพื้นทรายบริเวณที่มีรอยของเต่าในเวลาประมาณ ๐๗.๐๐-๐๘.๐๐ นาฬิกา จะพบว่าบริเวณที่เป็นหลุมไข่เต่าจะมีลักษณะเป็นไอหรือควันขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าเมื่อไข่มีอุณหภูมิสูง เมื่อมาถูกกับความเย็นของทรายชั้นล่างก็เกิดการคายความร้อน และเกิดไอขึ้นเหนือทรายได้
ไข่เต่าในแต่ละหลุมหรือที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า "รัง" จะมีจำนวนแตกต่างกันตามชนิดของเต่า และลำดับครั้งที่วางไข่ เช่น เต่ากระ ครั้งแรกอาจไข่รังละ ๘๐ ฟอง ครั้งต่อไป ก็อาจถึง ๑๒๐ ฟอง แล้วลดลงมาจนครั้งสุดท้ายอาจมีราว ๓-๔ ฟอง นอกนั้นเป็นไข่ที่ไม่มีไข่แดง ซึ่งเรียกว่า "ไข่ลม" เต่าเล็กจะไข่ครั้งแรกประมาณ ๑๐๐ ฟอง ครั้งต่อไปราว ๑๕๐ ฟอง ครั้งสุดท้ายก็ลดลงเหลือไม่กี่ฟอง เต่ามะเฟืองราว ๑๒๕ ฟอง ส่วนเต่าหางยาวมีจำนวนมากที่สุดราว ๑๕๐ ฟอง


อ้างอิง