วันจันทร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556

นามานุกรมประวัติศาสตร์เอเชีย

โดย ปรียาภรณ์ ภัยมณี

การปฏิวัติทางวัฒนธรรม(Cultural Revolution)


ภาพหน้าปกหนังสือเล่มหนึ่ง บรรยายรูปการปฏิวัติทางวัฒนธรรม

การปฏิวัติทางวัฒนธรรม(Cultural Revolution)เป็นชื่อเรียกการปฏิวัติหนึ่งในประเทศจีน ช่วงปี พ.ศ. 2509-2519 (ค.ศ. 1966-1976)
ในสมัยที่ประเทศจีนปกครองโดยคอมมิวนิสต์ใหม่ ๆ นั้น ได้มีการใช้ระบบคอมมูน (แนวคิดว่าทรัพย์สินทุกอย่างเป็นของรัฐ) โดยคอมมูนนี้เป็นจุดเริ่มของการปฏิวัติวัฒนธรรม เพราะคอมมูนการเลี้ยงดูได้ปลูกฝังแนวคิดสังคมนิยม และคอมมิวนิสต์ให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ของจีนในสมัยนั้น เป็นผลให้ระบบเครือญาติที่เคยเข้มแข็งอ่อนแอลง

ทศวรรษแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรม 1966-1976
ต้นทศวรรษ 1960 ฐานะของเหมาในพรรคคอมมิวนิสต์ถูกลดบทบาทลง เขาจึงได้เริ่มรุกกลับในปี 1962 เพื่อ ปกป้องพรรคจากในสิ่งที่เขาเชื่อว่าการคืบคลานเข้ามาของทุนนิยม และการต่อต้านสังคมนิยมกำลังเป็นภัยต่อประเทศ ในฐานะนักปฏิวัติที่ผ่านร้อนผ่านหนาวจากสถานการณ์อันเลวร้าย เหมาเชื่อว่าระบบการให้รางวัลแก่ชาวนาตามแนวทางปรับปรุงและฟื้นฟูของเติ้ง เป็นวิธีการฉ้อราษฏร์บังหลวงและเป็นการต่อต้านการปฏิวัติ
การต่อสู่ทางความคิดในพรรคนำไปสู่การกวาดล้างพวกที่ถูกเรียกว่า ฝักใฝ่ทุนนิยมหรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดสุดโด่งของเหมา ซึ่งมีตัวแทนคือ หลิวซ่าวฉี กับเติ้งเสี่ยวผิง เหมากล่าวว่า ขณะนี้ เพียงมีเนื้อหมูสามกิโลกับบุหรี่ไม่กี่ซอง ก็สามารถทำให้คนขายอุดมการณ์ได้แล้ว จึงมีเพียงการศึกษาแนวทางลัทธิสังคมนิยมเท่านั้น ที่จะยับยั้งลัทธิแก้ได้
โดยต่อมาการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นไปอย่างแพร่หลาย ผู้นำสังคมในยุคนั้นปลูกฝังประชาชนให้ให้ยึดมั่นอย่างเคร่งครัด ใครไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง โดยมีหน่วยงานสนับสนุนที่สำคัญ คือ พวกกองทัพพิทักษ์แดง (เรดการ์ด—Red Guard) หรือก็คือเยาวชนที่ผลิตโดยคอมมูนการเลี้ยงดูนั่นเอง

กลียุคแห่งการปฏิวัติ
ปี 1966 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ได้ตัดสินใจแนวทางการปฏิวัติวัฒนธรรม หลังจากที่เหมาเข้าควบคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในพรรคได้อีกครั้ง โดยมีผู้สนับสนุนสำคัญคือ หลินเปียว เจียงชิง (ภรรยาคนที่สี่ของเหมา) และเฉินป๋อต๋า การปฏิวัติมีจุดมุ่งหมายเพื่อ โค่นล้มพวกลัทธิทุนนิยม และวิพากษ์ศิลปวัฒนธรรมที่แบ่งแยกชนชั้นโดยการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปศิลปวัฒนธรรม และปฏิรูปทุกอย่างที่ขัดกับแนวทางลัทธิสังคมนิยม
ผลของการปฏิวัติวัฒนธรรม คือ สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่แสดงถึงวัฒนธรรมของจีนต้องถูกทำลาย เช่น หนังสือ วัดวาอาราม รูปปั้น งานศิลปะต่าง ๆ และทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันระหว่างครอบครัว เพื่อนบ้าน เพราะไม่สามารถรู้ได้ว่าใครจะเป็นผู้แจ้งให้ทางการรู้เกี่ยวกับละเมิดกฎ
วันที่ 18 สิงหาคม 1966 เหมาเจ๋อตงกับหลิวเปียวได้ปรากฏตัวที่ จตุรัสเทียนอันเหมิน พบกับพวกหงเว่ยปิงหรือเรดการ์ด ที่ทยอยมาจากทั่วประเทศจำนวนรวมสิบกว่าล้านคน หลังจากนั้น ทั่วประเทศจีนก็เข้าสู่กลียุค เมื่อพวกเรดการ์ดกระจายไปทั่วสารทิศแจกใบปลิว ติดโปสเตอร์ ป้ายคำขวัญ ตั้งเวทีอภิปราย บางส่วนก็บุกเข้าไปในวัดโบสถ์ พิพิธภัณฑ์สถาน ทำลายวัตถุโบราณ เผางานศิลปะ งานประพันธ์ ตอนหลังก็มีการบุกค้นบ้าน โดยเฉพาะพวกผู้ดีเก่า ปัญญาชน ศิลปินหัวอนุรักษนิยม จะถูกจับแห่ประจาน ทรมาน ตอนหลังแม้แต่พระสงฆ์ แม่ชีและนักบวชก็ไม่เว้น พวกที่มีญาติอยู่ต่างประเทศก็โดนข้อหา มีความสัมพันธ์กับต่างประเทศหลายคนทนรับเหตุการณ์ไม่ได้ก็ฆ่าตัวตาย
ในส่วนของผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์เองก็ใช่ว่าจะได้รับการยกเว้น เติ้งเสี่ยวผิง กับหลิวซ่าวฉี (ตอนหลังตายในที่คุมขัง) ถูกปลด เผิงเต๋อหวาย กับเฮ่อหลง ถูกทรมานจนเสียชีวิต วันที่ 22 สิงหาคม เหมาประกาศ ห้ามตำรวจขัดขวางความเคลื่อนไหวของนักศึกษาปฏิวัติในช่วงเวลาดังกล่าวเรียกว่า แดงสยองเฉพาะในปักกิ่ง มีคนถูกฆ่าตายถึง 1700 คน และทั่วประเทศมีคนฆ่าตัวตายถึง 2 แสนคน วันที่ 5 กันยายน ทางพรรคคอมมิวนิสต์ประกาศสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดสำหรับนักศึกษาและอาจารย์ที่จะเข้ามาเคลื่อนไหวในปักกิ่ง วันที่ 9 ตุลาคม หลินเปียวกล่าวหาเติ้งเสี่ยวผิงกับหลิวซ่าวฉีเป็นตัวแทนของทุนนิยม

อวสานของหลินเปียว 1969-1971
ปี 1969 ในที่ประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 1 เมษายน หลิวเปียว ถือว่าเป็นผู้ที่อยู่ในอำนาจสูงสุดต่อจากเหมา ในขณะที่หลิวซ่าวฉีถูกโค่น และโจวเอินไหลถูกลดบทบาทลง ในที่ประชุมสมัชชา หลินเปียวกล่าวสดุดีเหมาด้วยคติพจน์เหมา และสนับสนุนการใช้กองกำลังอาวุธ ประณามหลิวซ่าวฉีเป็นพวกต่อต้านการปฏิวัต แก้ไขธรรมนูญพรรค ให้ตนเองเป็นผู้สืบทอดอำนาจของเหมาในอนาคต หลังจากนั้น ชื่อของหลิวเปียวกับเหมาเจ๋อตงมักจะปรากฏคู่กันเสมอในที่ต่าง ๆ ในการคัดเลือกผู้นำพรรคใหม่ในครั้งได้ ได้คัดเลือกเหมาเจ๋อตง หลิวเปียว เฉินป๋อต๋า โจวเอินไหล คังเซิน เป็นสมาชิกถาวรคณะกรรมการกลางพรรค สี่ในห้าเป็นการได้ตำแหน่งด้วยผลพวงของการปฏิวัติวัฒนธรรม ขณะที่โจวเอินไหลเป็นเพียงคงสถานะตนเอง
หลังจากได้รับการยืนยันที่จะได้รับเป็นผู้สืบทอดของเหมา หลิวเปียวจึงขอฟื้นฟูตำแหน่งประธานประเทศขึ้นมาใหม่ หลังจากที่เหมาได้ยกเลิกไป โดยหลินเปียวมุ่งหวังที่จะเข้ารับรองประธาน โดยมีเหมาเจ๋อตงเป็นประธาน
วันที่ 23 สิงหาคม 1970 การประชุมเต็มคณะครั้งที่สองของสมัชชาพรรคครั้งที่ 9 ได้จัดขึ้นที่หลูซานอีกครั้งหนึ่ง เฉินป๋อต๋า เป็นคนแรกที่ขึ้นกล่าวในที่ประชุม เขาได้กล่าวยกย่องสดุดีเหมาเสียเลิศเลอและตามด้วยการขอฟื้นตำแหน่งประธานประเทศขึ้นมาใหม่ เหมารู้ถึงเบื้องลึกของเฉิน จากนั้นไม่นานเฉินก็ถูกปลดออกจากคณะกรรมการกลางของพรรค และเรื่องนี้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทั่วประเทศ และเฉินก็กลายเป็นพวกตัวแทนของหลิวซ่าวฉี ซึ่งเป็นมาร์กซิสจอมปลอมและพวกปลิ้นปล้อนทางการเมือง
การปลดเฉินออกถือเป็นสัญญาณเตือนหลินเปียว แต่หลิวเปียวก็ไม่หยุดที่เรียกร้องให้แต่งตั้งตำแหน่งประธานประเทศ ทางรัฐบาลกลางได้ชี้ให้เหมาเห็นถึงความทะเยอทะยานของหลิวเปียวที่จะขจัดเหมาออกจากอำนาจ การขอเป็นรองประธานก็เพื่อให้เขามีความชอบธรรมที่จะได้ขึ้นเป็นประธานเมื่อเหมาถึงแก่อสัญกรรม
เมื่อแผนการล้มเหลว หลินเปียวจึงคิดจะยึดอำนาจด้วยการใช้กำลัง เนื่องจากอำนาจในพรรคของเขานับว่ายิ่งน้อยลง ๆ หลินเปียวได้ร่วมกับลูกชาย หลินลิกั่ว และคนสนิทใกล้ชิดก่อการในเซี่ยงไฮ้ โดยวางแผนใช้กองทัพอากาศทิ้งระเบิดปูพรม เมื่อยึดอำนาจสำเร็จก็จัดการจับกุมพวกฝ่ายตรงข้ามและเขาก็ก้าวสู่อำนาจสูงสุด ดังที่เขาได้กล่าวในเอกสารชื่อ อู่ชิยี่กงเฉินจี้ย่าวไว้ว่า การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจครั้งใหม่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าเราไม่สามารถยึดอำนาจการนำปฏิวัติสำเร็จ อำนาจก็จะตกไปอยู่ในมือของคนอื่น
เมื่อการยึดอำนาจไม่สำเร็จ ข่าวลือเกี่ยวกับการลอบสังหารเหมาเกิดขึ้นมาไม่ขาดระยะ ลือกันตั้งแต่เหมาถูกฆ่าบนขบวนรถไฟในปักกิ่ง การบุกเข้าไปลอบสังหารถึงที่พัก โดยคนใกล้ชิดของหลินเปียว หลังวันที่ 11 กันยายน หลินเปียวก็ไม่เคยปรากฏให้เห็นในที่สาธารณะอีก ในขณะที่ผู้ใกล้ชิดของหลินเปียวที่หนีไปทางฮ่องกงถูกจับกุมทั้งหมด วันที่ 13 หลินเปียวขึ้นเครื่องบินเตรียมหนีไปโซเวียต แต่เครื่องบินไปตกในมองโกเลียใน ไม่มีผู้ใดรอดชีวิต ในวันเดียวกันทางปักกิ่งเรียกประชุมด่วนเกี่ยวกับเรื่องของหลินเปียว จนถึงวันที่ 14 กันยายน ข่าวหลินเปียวเสียชีวิตจากเครื่องบินตกจึงทราบถึงทางปักกิ่ง ในวันที่ 1 ตุลาคม ทางการจีนประกาศงดจัดฉลองวันชาติที่จตุรัสเทียนอันเหมิน

แก๊งสี่คน 1971-1976
หลังการเสียชีวิตของหลินเปียว เหมายังมองไม่เห็นผู้สืบทอดอำนาจ จึงได้ย้ายหวางหงเหวิน จากเซี่ยงไฮ้มาปักกิ่งในเดือนกันยายน 1972 และได้เป็นคณะกรรมการกลางของพรรคในอันดับสองรองจากโจวเอินไหล เหมือนหมายมั่นจะให้เป็นผู้สืบทอด ในขณะเดียวกันเติ้งเสี่ยวผิง ก็ได้กลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งภายในความช่วยเหลือของโจวเอินไหล จากผลกระทบในการแย่งชิงอำนาจของหลินเปียว ทำให้เหมาไม่อาจที่จะไม่พึ่งพาโจวเอินไหลกับเติ้งเสี่ยวผิง แต่เหมาก็ไม่คิดจะถ่ายโอนอำนาจให้เติ้ง แต่ถ้าเทียบกำลังอำนาจ ฝ่ายซ้ายจัดของฝ่ายตนแล้ว เหมาก็ยังไม่ค่อยชอบ ฝ่ายขวาของเติ้งนัก
กรกฎาคม 1973 เหมาวิพากษ์ว่าทั้งกั๊วหมิงต่างกับหลินเปียวล้วนแต่เป็นพวกฝักใฝ่ลัทธิขงจื้อ มกราคม 1974 เจียงชิงพร้อมพวกซึ่งเป็นพวกฝักใฝ่เหมาเจ๋อตงที่แท้จริง ก็เริ่มเคลื่อนไหว วิพากษ์หลินวิจารณ์ข่งโดยมีเป้าหมายอยู่ที่โจวเอินไหล เนื่องจากโจวเป็นคู่แข่งคนสำคัญทางการเมืองหลังจากหลินเปียวเสียชีวิต แต่ความเคลื่อนไหวนี้ก็ไม่ได้รับความสนใจมากนัก
ตุลาคม 1974 โจวเอินไหลป่วยหนักเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ภารกิจทั้งหมดจึงมอบหมายให้เติ้ง ในฐานะรองนายกฯเป็นคนรับผิดชอบแทน เติ้งดำเนินตามนโยบาย สี่ทันสมัยของโจวเอินไหล (สี่ทันสมัยคือ ความทันสมัยด้านเกษตร ด้านอุตสาหกรรม ด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ และด้านการทหาร) กันยายน 1975 เหมาล้มป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลอีกคน

สิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรม ปี 1976
เป็นปีที่สำคัญสำหรับการปฏิวัติวัฒนธรรม วันที่ 8 มกราคม โจวเอินไหลเสียชีวิตด้วยโรงมะเร็ง ในวันต่อมาประชาชนต่างหลั่งไหลในที่อนุเสาวรีย์วีรชนเพื่อไว้อาลัยแก่โจวเอินไหล วันที่ 15 เป็นวันจัดงานศพของโจวเอินไหล เติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้กล่าวไว้อาลัยอย่างเป็นทางการ
กุมภาพันธ์ กลุ่มแก๊งสี่คนออกมาโจมตีเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งเป็นคู่แข่งที่เหลืออยู่เพียงคนเดียวอีกครั้ง โดยได้รับไฟเขียวจากเหมา เติ้งถูกลดอำนาจอีกครั้ง แต่เหมาก็ไม่ได้แต่งตั้งใครจากกลุ่มสี่คนเข้ารับตำแหน่งแทน แต่หันไปแต่งตั้งหัวกั๊วเฟิงแทน วันที่ 4 เมษายน วันชิงเม้ง ตามประเพณีจีน ประชาชนประมาณสองล้านคนรวมตัวกันที่จตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อรำลึกโจวเอินไหล ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มสนับสนุนเติ้งเสี่ยวผิง และโจมตีแก๊งสี่คนปรากฏภายในจตุรัส เอกสารต่อต้านกลุ่มสี่กลุ่มเผยแพร่ออกมาจำนวนมาก กลุ่มแก๊งสี่คนจึงสั่งให้ตำรวจเข้าไปสลายการชุมนุม แก๊งสี่คนโจมตีเติ้งเสี่ยวผิงเป็นผู้วางแผนอยู่เบื้องหลังสำหรับการชุมนุมครั้งนี้ เติ้งถูกปลดออกจากทุกตำแหน่งทางการเมือง และแต่งตั้งหัวกั๊วเฟิงเป็นรองนายกฯ อันดับหนึ่งแทน
กันยายน 1976 เหมาถึงแก่อสัญกรรม แก๊งสี่คนเห็นหัวกั๊วเฟิงไม่ยอมเชื่อฟังพวกเขาจึงเตรียมที่จะล้มหัว แต่วันที่ 6 ตุลาคม หัวกั๊วเฟิงภายใต้การสนับสนุนของกองทัพก็ชิงลงมือก่อน โดยส่งตำรวจเข้าจับกุมสมาชิกแก๊งสี่คนทั้งหมด การปฏิวัติวัฒนธรรมจึงปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์

การสิ้นสุดของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม
การเสียชีวิตของ เหมาเจ๋อตง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์ในขณะนั้น มีผลต่อการล่มสลายของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก ผู้สืบอำนาจต่อมา คือ เติ้งเสี่ยวผิง นั้นได้ผ่อนคลายกฎลง ทำให้สภาวการณ์คลี่คลาย โดยเฉพาะเมื่อมีการจับกุมกลุ่มผู้นำการปฏิวัติ ทำให้การปฏิวัติทางวัฒนธรรมสิ้นสุดลง

การปฏิวัติวัฒนธรรมในสาธารณรัฐประชาชนจีน  ค.ศ. ๑๙๖๖-๑๙๗๖ 
  การปฏิวัติวัฒนธรรม  (Cultural Revolution)  ในสาธารณรัฐประชาชนจีนนับเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งเหตุการณ์หนึ่ง  นับตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะปกครองสาธารณรัฐประชาชนจีน  ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของประชาชน  โดยมีเหมาเจ๋อตงเป็นผู้นำใน  ค.ศ. ๑๙๔๙  ก่อนเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมใน  ค.ศ. ๑๙๖๖  สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ใช้ระบอบการปกครองนี้มาเป็นเวลา  ๑๗  ปี  ตลอดระยะเวลาดังกล่าวปรากฏชัดว่าไม่สามารถแก้ปัญหาบางด้านที่เป็นผลจากระบอบการปกครองเดิมในสมัยรัฐบาลก๊กมินตั๋งให้หมดสิ้นไปได้  เช่น  ระบอบข้าราชการอิทธิพล  ระบอบนายทุน  และยิ่งกว่านั้น  ก็คือ  การที่สาธารณรัฐประชาชนจีนและสหภาพโซเวียตมีความขัดแย้งกันมากขึ้น  เมื่อ สตาลินผู้นำของสหภาพโซเวียตถึงแก่กรรมใน  ค.ศ. ๑๙๕๓  ความขัดแย้งนี้มีสาเหตุจากการที่เหมาเจ๋อตงไม่พอใจสหภาพโซเวียตที่มีนโยบายปฏิบัติออกนอกแนวทางอุดมการณ์การปกครองประเทศคอมมิวนิสต์  โดยใช้นโยบายใหม่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนโจมตีว่าเป็น  ลัทธิแก้ (Revisionism)  ซึ่งในทัศนะของสาธารณรัฐประชาชนจีนถือว่าเป็นการส่งเสริมระบอบทุนนิยม  ทั้งนี้  เพราะสหภาพโซเวียตเน้นว่า  วิธีการปฏิวัติโลกให้เป็นคอมมิวนิสต์นั้นไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการรุนแรงเพียงประการเดียวในการปฏิวัติสังคม
                สำหรับเหมาเจ๋อตงมีความยึดมั่นว่า  การปฏิวัติในประเทศต่างๆ  นั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  เพราะรัฐบาลนายทุนที่ปกครองประเทศต่างๆ  จะไม่ยอมสละอำนาจให้คอมมิวนิสต์โดยไม่คิดต่อสู้  สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงสนับสนุนการปฏิวัติในประเทศต่างๆ  โดยเฉพาะประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่  ๒  เช่น  ด้วยการส่งอาวุธและส่งเงินไปใช้ขบวนการปฏิวัติในเอเชีย  แอฟริกา  และละตินอเมริกา  เพื่อล้มล้างรัฐบาลซึ่งตนถือว่าเป็นตัวแทนของระบอบนายทุน
(ลัทธิแก้  เป็นถ้อยคำที่ฝ่ายเหมาเจ๋อตงและกลุ่มสี่คนใช้เรียกโจมตีฝ่ายที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยการเปิดรับเทคโนโลยี  และวิธีการของประเทศทุนนิยมตะวันตกมาใช้  กลุ่มของเหมาเจ๋อตงซึ่งเน้นทำการปฏิวัติตลอดกาล  เพื่อให้บรรลุถึงสังคมคอมมิวนิสต์ในอุดมคติ  ต่างพากันกล่าวหาพวกนี้ว่า  เป็นลัทธิแก้หรือเป็นพวกฝ่ายขวาที่เดินตามแนวทางประเทศทุนนิยม  เนื่องจากกลุ่มนี้เน้นปรับเอาหลักการบางอย่างของประเทศทุนนิยมมาใช้  เช่น  การให้มีการค้าขายส่วนตัวบางประการ  ให้มีเงินตอบแทนพิเศษหรือเงินโบนัส  เป็นต้น  สิ่งต่างๆ  เหล่านี้ทำให้กลุ่มเหมาเจ๋อตงเกรงไปว่าจะนำไปสู่การฟื้นตัวของลัทธิทุนนิยมขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีน  จึงทำการโจมตีต่อต้านอย่างขนานใหญ่  เช่น  ทำการปฏิวัติวัฒนธรรม  เป็นต้น  นอกจากนั้น  เหมาเจ๋อตงยังได้โจมตีกลุ่มนี้อีกว่า  เป็นกลุ่มที่ต้องการให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเน้นแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ  มากกว่าการเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนาม  หรือเผชิญหน้ากับสหภาพโซเวียต  ด้วยเหตุนี้จึงต้องการสันติภาพหรือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศทุนนิยม  เช่นเดียวกับนโยบายของสหภาพโซเวียตในสมัยครุสซอฟ  ที่ถูกเหมาเจ๋อตงโจมตีว่าถือตามลัทธิแก้)
ก.  สาเหตุสำคัญของการปฏิวัติวัฒนธรรม  มีทั้งสาเหตุภายในและภายนอก  ดังนี้
                ๑.  เนื่องจากเหมาเจ๋อตงมีความคิดขัดแย้งต่อนโยบายคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต  โดยเห็นว่าผิดไปจากแนวทางของระบอบคอมมิวนิสต์ที่แท้จริง  และที่สำคัญคือ  นโยบายแบบสหภาพโซเวียตที่มีผลต่อสถานการณ์ทางการเมืองภายในสาธารณรัฐประชาชนจีน  นั่นคือ
                        -  เริ่มมีกลุ่มผู้บริหารระดับสูงบางกลุ่มมีแนวความคิดต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแนวทางอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์  กลุ่มผู้นำของสาธารณรัฐประชาชนจีนกลุ่มนี้มี  ประธานาธิบดีหลิวซ่าวฉี (Liu Shao Ch’i)  เป็นผู้นำ  ร่วมด้วยเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์  เติ้งเสี่ยวผิง (Teng Hsiao P’ing)  บุคคลกลุ่มนี้ได้คัดค้านเหมาเจ๋อตงว่าเป็นผู้ที่ยึดมั่นในทฤษฎีและหลักการของตนมากเกินไป  เหมาเจ๋อตงจึงไม่พอใจและถือว่ากลุ่มนี้มีแนวความคิดแบบสหภาพโซเวียต  ซึ่งเป็นลัทธิแก้หรือเดินตามแนวทางทุนนิยม
                        -  เกิดจากการขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมือง
                        -  จากการที่บรรดาผู้มีความรู้หรือปัญญาชนจำนวนมากของสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งมีความตื่นตัวทางการเมือง  ได้ร่วมกันจัดตั้งขบวนการที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ปัญญาชนได้แสดงความคิดเห็นโดยกว้างขวาง  เช่น  ขบวนการบัวบานบนแผ่นดินแดง  และขบวนการดอำไม้ทั้งร้อยดอกบานสะพรั่ง  โดยมุ่งให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ  ทางด้านอุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ในทางสากล
                ๒.  เหมาเจ๋อตงเกิดความไม่แน่ใจในอนาคตการปฏิวัติของสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยเกรงว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งชนะในสงครามกลางเมืองจะกลายเป็นฝ่ายแพ้ในการสร้างชาติ  จึงผลักดันให้ประชาชนทำการปฏิวัติจิตสำนึกทางการเมือให้ตระหนักในความสำคัญของการปฏิวัติตลอดกาล  เพื่อต่อต้านระบอบทุนนิยมที่เลวร้าย  โดยยึดมั่นในหลักการและคำสอนของเหมาเจ๋อตงเป็นสำคัญ
                ๓.  เนื่องจากเหมาเจ๋อตงถูกโจมตีในเรื่องความล้มเหลวของขบวนการก้าวกระโดดไกล  จึงหันมาทำการปฏิวัติวัฒนธรรม  เพื่อให้ประชาชนให้การสนับสนุนตนตามเดิมเพราะจากโครงการก้าวกระโดด
ข.  จุดมุ่งหมายของการปฏิวัติวัฒนธรรม
                แนวทางการดำเนินการแบ่งได้เป็น  ๔  ด้าน  คือ
๑.      จะต้องยุติการต่อสู้และความขัดแย้งทางการเมืองในระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
๒.    ป้องกันไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิด  หรืออุดมการณ์ที่เดินตามแนวทางลัทธิแก้ของสหภาพโซเวียต
๓.     ทำให้ปัญญาชนมีความเข้าใจในลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างถูกต้องและรวมพลังกันให้ปฏิบัติไปในแนวทางดังกล่าวร่วมกัน
๔.     จะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนเห็นว่า  การปฏิวัตินั้นเป็นแนวทางสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ  ได้  เพราะฉะนั้นประชาชนจะต้องมีจิตใจปฏิวัติที่เข้มข้นมีความจริงใจ  และมีศรัทธาต่อพรรคคอมมิวนิสต์เป็นอันดับแรก
ค.  การดำเนินการปฏิวัติวัฒนธรรม
                การปฏิวัติวัฒนธรรมแบ่งออกได้เป็น  ๒  ระยะ  คือ  ในระยะแรกระหว่าง  ค.ศ. ๑๙๖๖ - ๑๙๖๗  และระยะที่  ๒  ระหว่าง  ค.ศ. ๑๙๖๗ - ๑๙๗๑  รวมระยะเวลาการปฏิวัติวัฒนธรรมได้ประมาณถึง  ๖  ปี  นับว่าเป็นการปฏิวัติที่ใช้เวลายาวนานทีเดียว  การปฏิวัติวัฒนธรรมในระยะ  ๒  ปีแรก  (ค.ศ. ๑๙๖๖ - ๑๙๖๗)  เป็นช่วงของการดำเนินการปฏิวัติอย่างรุนแรง  โดยมีขบวนการเรดการ์ด (Red Guards)  เป็นผู้ดำเนินการ  มีทั้งการทำลายทรัพย์สินของรัฐและทำร้ายเยาวชนที่ประพฤติตัวแบบชนชั้นกลาง  แม้แต่ชื่อถนนหนทางที่มีลักษณะเจ้าขุนมูลนายก็มีการเปลี่ยนแปลงใหม่  บรรดาครูบาอาจารย์และข้าราชการระดับต่างๆ  จะต้องอยู่ภายใต้คำวินิจฉัยของขบวนการเรดการ์ดว่า  มีการกระทำอันใดไปในทางรับใช้ชนชั้นนายทุนและชนชั้นกลางหรือไม่  นับว่าในระหว่างนี้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกเปลี่ยนแปลงไปหมด  รวมทั้งการดำเนินชีวิตของประชาชน  นอกจากนั้นยังมีการสร้างกฎเกณฑ์สำหรับระบบสังคมใหม่  โดยการปฏิรูปโครงสร้างและองค์ประกอบของสาขา  พรรคทุกท้องถิ่นใหม่อีกด้วย  ส่วนในระยะที่  ๒  (ค.ศ. ๑๙๖๗ -๑๙๗๑)  เป็นการปฏิบัติงานต่อเนื่องกันเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะแรกเข้าสู่แนวทางของการปฏิวัติตามจุดมุ่งหมาย  โดยการดำเนินการอยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มสี่คน (Gang of Four)
    ขั้นตอนของการดำเนินงานมีดังนี้คือ
                ๑.  การกวาดล้างผู้ที่มีความคิดต่อต้าน
                ๒.  ควบคุมด้านการทหารให้อยู่ในอำนาจ    ยกเลิกการใช้เครื่องแบบและเครื่องหมาย  เป็นต้น  เพื่อให้เกิดความเสมอภาค  และเน้นการสอนให้ทุกกองทัพสนใจการศึกษาความคิดของเหมาเจ๋อตง  เพื่อให้มีจิตใจที่ปฏิวัติ
                ๓.  เหมาเจ๋อตงได้จัดตั้งขบวนการเรดการ์ดขึ้นใน  ค.ศ. ๑๙๖๖  ขบวนการนี้ประกอบด้วยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและนิสิตนักศึกษา  โดยมีอุดมการณ์เพื่อรักษาแนวทางของลัทธิคอมมิวนิสต์ให้คงอยู่ตลอดไป  เหมาเจ๋อตงเน้นสั่งสอนให้คนเหล่านี้มีความคิดในการปฏิวัติอยู่ตลอดเวลา  พร้อมทั้งให้การสนับสนุนพวกเยาวชนเรดการ์ดโจมตีกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคและอุดมการณ์ของลัทธิคอมมิวนิสต์  ภายในเวลาเพียง  ๑  ปี  ขบวนการนี้มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง  ๑๐  ล้านคน  คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงได้รับรองขบวนการนี้ให้เข้ามีส่วนร่วมรับผิดชอบทางการเมืองของประเทศ
                ๔.  การจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อดำเนินการปฏิวัติวัฒนธรรม  คณะกรรมการนี้มีทั้งหมด  ๑๗  คน    ผู้ที่มีบทบาทมากคือ  เฉินป๋อต๋า (Ch’en Po Ta)  รองลงมาคือ  กลุ่มสี่คน  ซึ่ง  ๑  ใน  ๔  คนนี้มีนางเจียงชิง (Chiang Ch’ing)  ภรรยาของเหมาเจ๋อตงรวมอยู่ด้วย  ในกลุ่มสี่คนนี้  จางชุนเฉียว (Chang Chun Chiao)  มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการแผนกโฆษณาของคณะกรรมการเซี่ยงไฮ้ใน ค.ศ. ๑๙๖๕  เจียงชิงเป็นรองประธานคนที่  ๓  ของสภาประชาชนแห่งชาติใน  ค.ศ. ๑๙๖๔ 
เหยาเหวิน หยวน (Yao Wen Yuan)  ทำงานเขียนเกี่ยวกับอุดมการณ์และวัฒนธรรมแต่ไม่มีตำแหน่งบริหารใดๆ 
หวางหงเหวิน (Wang Hong Wen)  เป็นผู้นำคนสำคัญในการชักชวนเรียกร้องให้กรรมการเข้ายึดโรงงาน  การขึ้นมามีอำนาจของกลุ่มสี่คนนั้นเป็นผลจากการที่เหมาเจ๋อตงต้องการคนที่มีแนวความคิดสนับสนุนตนจริงๆ  ทางด้านอุดมการณ์และวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ความคิด 
(ขบวนการเรดการ์ด  เป็นขบวนการที่เริ่มมีขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีนใน  ค.ศ. ๑๙๖๖  และสลายตัวไปใน  ค.ศ. ๑๙๖๙  ขบวนการนี้ประกอบด้วย  นักเรียนระดับมัธยมศึกษาและนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ  ที่มีอุดมการณ์เพื่อรักษาแนวทางของลัทธิคอมมิวนิสต์  โดยได้ร่วมกันดำเนินการต่อต้านการฟื้นฟูของลัทธิทุนนิยม  ด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรม  มาตรการที่ใช้  คือ  การปลุกระดมให้มีการปฏิวัติทั่วประเทศ  เพื่อมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยความคิดและวัฒนธรรมใหม่  ทำให้ขบวนการนี้มีฐานะเป็นองค์กรปฏิวัติ  โดยมีสมาชิกจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเข้าร่วมด้วย  ปรากฏว่าขบวนการนี้ได้แผ่ขยายจากโรงเรียนต่างๆ  ไปยังสังคม  และกระจายไปทั่วประเทศจนกลายเป็นพลังสำคัญในการปฏิวัติวัฒนธรรม  การที่ขบวนการนี้ได้เข้ามีส่วนร่วมในการปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนสิงหาคม  ค.ศ. ๑๙๖๖  ทำให้การปฏิวัติมีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก)

 ผลของการปฏิวัติวัฒนธรรม  มีผลเกิดขึ้นแบ่งได้กว้างๆ  เป็น  ๒  ด้าน  คือ
                ๑.   ผลต่อสถานการณ์ภายในประเทศ
                ๒.  ผลต่อสถานการณ์ภายนอกประเทศ
๑.   ผลต่อสถานการณ์ภายในประเทศ   การปฏิวัติวัฒนธรรมที่มีจุดเริ่มต้นจากความขัดแย้งของกลุ่มผู้นำ  ได้ก่อให้เกิดการโจมตีและกำจัดผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ  ตลอดจนการทำลายความสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์  ซึ่งเป็นศูนย์กลางรวมอำนาจทางการเมืองของสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างกว้างขวาง  ยิ่งกว่านั้น  ยังได้ก่อให้เกิดขบวนการรวมตัวของประชาชนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงทุกด้านในประเทศ  เพื่อให้สาธารณรัฐประชาชนจีนมีระบบสังคมใหม่ที่เป็นระบอบสังคมนิยมที่ถูกต้อง  ซึ่งมีเหมาเจ๋อตงเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง
  ๒.  ผลต่อสถานการณ์ภายนอกประเทศ       ในระดับความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจในกรณีของสหภาพโซเวียต  สาธารณรัฐประชาชนจีน  มีนโยบายต่อต้านสหภาพโซเวียตอย่างเด่นชัดมาก  ในสมัยการปฏิวัติวัฒนธรรมพวกเยาวชนเรดการ์ดได้โจมตีสหภาพโซเวียตว่าเป็นพวกลัทธิแก้  และเป็นนักสังคมนิยมที่ขยายอำนาจโดยมุ่งขยายดินแดน  เช่น  การที่สหภาพโซเวียตเข้ายึดครองเชโกสโลวะเกีย  ในด้านความสัมพันธ์กับประเทศด้อยพัฒนานั้น  สาธารณรัฐประชาชนจีนในระยะการปฏิวัติวัฒนธรรม  มีนโยบายเด่นชัดที่สนับสนุนขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธในประเทศด้อยพัฒนา  ตามความคิดเกี่ยวกับการปฏิวัติของเหมาเจ๋อตง  ที่ต้องใช้วิธีการรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงสังคม  การต่อสู้ในแบบสงครามกองโจรจึงเกิดขึ้นในบางประเทศ  เช่น  การสนับสนุนเวียดนามเหนือทำสงครามกองโจรในเวียดนามใต้  ใน  ค.ศ. ๑๙๖๘  และการสนับสนุนให้กลุ่มคนผู้นิยมคอมมิวนิสต์จีนในพม่าล้มรัฐบาลนายพลเนวินเพื่อให้พรรคอมมิวนิสต์พม่าขึ้นมีอำนาจแทน  การสนับสนุนกองกำลังเขมรแดงในกัมพูชาซึ่งมีพอลพตเป็นผู้นำล้มรัฐบาลของเจ้านโรดมสีหนุและในกรณีประเทศไทย  สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ให้การสนับสนุนแก่ขบวนการปฏิวัติในประเทศไทย  ที่เรียกตัวเองว่า  พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  เป็นต้น

ปฏิวัติวัฒนธรรม สิบปีสุดท้ายของเหมาเจ๋อตง



ในยุคหลังความล้มเหลวของนโยบายก้าวกระโดดใหญ่ สภาพความเป็นอยู่ของคนจีนเริ่มดีขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น แต่กระนั้นในความเห็นของเหมาเจ๋อตง การพัฒนายังกระจุกอยู่ในตัวเมือง ไม่ได้กระจายออกสู่ชนบทอย่างแท้จริง จึงทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างเมืองและชนบทขึ้น ประกอบกับกลไกการทำงานของรัฐซึ่งมีลักษณะเหมือนระบบขุนนาง และกลไกของพรรคที่เป็นแบบรวมศูนย์มากเกินไป ทำให้เกิดชนชั้นกระฎุมพีขึ้นมาใหม่ เป็นตัวแทนของลัทธิแก้เกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ประธานเหมาเจ๋อตง ไม่สามารถปล่อยให้เกิดขึ้นได้
เหมาชูประเด็นการพัฒนาในชนบท โดยรณรงค์ให้มีการศึกษาสังคมนิยม เพื่อปกป้องนโยบายก้าวกระโดดใหญ่ ต่อต้านสมาชิกที่ฝักใฝ่ทุนนิยม และจัดตั้งคอมมูนตามแนวความคิดสังคมในอุดมการณ์ของพรรคฯ ในการนี้เหมาได้แรงหนุนอย่างมากจากชาวนาชั้นกลางและชาวนายากจน เหมาได้เรียกร้องให้มีการเรียกคืนเครื่องมือจากชาวนามาเข้าคอมมูนเพื่อหาทางเพิ่มผลผลิตในภาคการเกษตร
ปี 1962 เหมาได้กล่าวในการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคว่ายังคงมีชนชั้นในสังคมนิยมจีน จึงต้องมีการต่อสู้ทางชนชั้น (ปฏิวัติ) อยู่ต่อไป แต่ปัญหาก็คือคนสนับสนุนแนวความคิดนี้ของท่านประธานเหมามีน้อยเกินไป กลไกจัดตั้งของพรรคมีความเป็นระบบมากจนเหมาไม่สามารถสอดแทรกความคิดนี้ในที่ประชุมได้ คนที่ต่อต้านแนวความคิดเหล่านี้อย่างชัดเจนคือ หลิวซ่าวฉี เติ้งเสี่ยวผิง และกลไกจัดตั้งของพรรคในปักกิ่ง
ประธานเหมาจึงไปดำเนินงานปฏิวัติในเซี่ยงไฮ้ โดยเริ่มจากให้มีการตอบโต้จากหนังสือพิมพ์ในเซี่ยงไฮ้ว่ามีผู้เดินตามเส้นทางทุนนิยมอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นที่ยอมรับไม่ได้ และต่อด้วยความพยายามผลักดันนโยบายศึกษาสังคมนิยมและปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นลำดับต่อมา
ประธานเหมาจึงไปดำเนินงานปฏิวัติในเซี่ยงไฮ้ โดยเริ่มจากให้มีการตอบโต้จากหนังสือพิมพ์ในเซี่ยงไฮ้ว่ามีผู้เดินตามเส้นทางทุนนิยมอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นที่ยอมรับไม่ได้ และต่อด้วยความพยายามผลักดันนโยบายศึกษาสังคมนิยมและปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นลำดับต่อมา


   เหมาเจ๋อตงในวัยหนุ่ม

แต่การดำเนินการเช่นนี้ถูกตั้งข้อสงสัยและไม่เห็นด้วยจากสมาชิกอาวุโสของพรรคและผู้บริหารประเทศจำนวนหนึ่ง ผู้ที่มีบทบาทมากก็คือหลิวซ่าวฉี ผู้เป็นประธานประเทศ (ประธานาธิบดี) และเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งเห็นความล้มเหลวมาแล้วในนโยบายก้าวกระโดดใหญ่ และไม่เชื่อว่าการดำเนินงานคอมมูนจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้ จึงจำกัดการปฏิบัติตามนโยบายของเหมาโดยใช้กลไกของพรรคฯ และพยายามใชกลไกของพรรคฯ ในการพัฒนา มากกว่ที่จะใช้กลไกปฏิวัติ
แต่เหมากลับไม่เชื่อว่ากลไลของพรรคฯจะทำได้ ประธานเหมาเห็นว่ากลไกของพรรคและระบบราชการก็เหมือนระบบขุนนางของจักรพรรดิ์ ซึ่งมีลักษณะเป็นทุนนิยม แนวความคิดสายหลิวซ่าวฉีและเติ้งเสี่ยวผิงเป็นทุนนิยมมากเกินไป จะต้องถูกกำจัดโดยการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ   เหมาคิดบนพื้นฐานของนักปฏิวัติ และเชื่อว่าการปฏิวัติจะนำสังคมไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องได้ เพราะสิ่งที่เหมาทำมาตลอดชีวิตตั้งแต่ยังไม่ออกจากบ้านคือการปฏิวัติ และคนที่ทำอย่างนี้มาตลอดชีวิต ต้องมีความเชื่อและศรัทธาต่อสิ่งที่เขากระทำอยู่อย่างแน่นอน ในขณะที่กลไกของพรรคมาจากพื้นฐานของสังคมนิยม ไม่ใช่แนวคิดปฏิวัติ
ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดขั้วอำนาจสองขั้วขึ้นในพรรค ฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายดำเนินการของพรรคที่พยายามใช้กลไกของพรรคในการพัฒนาประเทศ อีกฝ่ายคือประธานเหมาซึ่งในขณะนั้นไม่สามารถใช้อำนาจใด ๆ ในการเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายหรือการปฏิบัติใด ๆ ในพรรคได้   เหมาเลือกใช้ทั้งปากกาและปืนเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในฐานะประธานคณะกรรมการทหารของพรรค เหมาแต่งตั้งหลินเปียวคนสนิทไปเป็นรองประธานคณะกรรมการทหารเพื่อช่วยเหลือในกองทัพปลดแอก และกองทัพปลดแอกนี่เองที่จะมีบทบาทอย่างยิ่งในอนาคตในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม และใช้การดำเนินงานทางมวลชนผ่านทางหนังสือพิมพ์ในเซี่ยงไฮ้เพื่อตอบโต้ฝ่ายตรงข้าม
ปี 1964 เหมาเริ่มปรับฐานอำนาจโดยโยกย้ายผู้ปฏิบัติงาน ตั้งนโยบายกำจัดผู้มีอำนาจในพรรคที่เดินไปตามเส้นทางทุนนิยม ในปีนี้ เจียงชิง อดีตนักแสดง ผู้ซึ่งเป็นภรรยาของเหมาเจ๋อตงเริ่มมีบทบาทในพรรค โดยได้เป็นสามชิกสมัชชาแห่งชาติ เจียงชิงและทีมงานเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ จนท้ายที่สุดมีผู้ตั้งสมญานามให้ว่า "แกงค์สี่คน" คนที่ตั้งชื่อนี้คือเหมาเจ๋อตง



เหมาเจ๋อตงและเจียงชิง

ปี 1965 มีคนเริ่มลัทธิบูชาตัวบุคคล (เหมาเจ๋อตง) ยกยอปอปั้นให้เหมาเป็นเหมือนเทพเจ้า แนวความคิดเหมาเจ๋อตงถูกยกขึ้นเทียบแนวความคิดของมาร์กซ หนังสือรวมรวมบทความ แนวคิด และคำพูดของเหมาเริ่มมีการพิมพ์ออกสู่ท้องตลาด เป็นหนังสือเล่มเล็กขนาดพกใส่กระเป๋าเสื้อได้ ปกสีแดง กล่าวกันว่าเป็นฝีมือการรวบรวมของหลินเปียว



หนังสือปกแดง ที่บ้านมีอยู่เล่มหนึ่ง แต่เป็นฉบับสองภาษา มีแปลเป็นอังกฤษอยู่ด้วยครับ

ในปีเดียวกัน เหมาได้เสนอโครงการปฏิวัติวัฒนธรรมในที่ประชุมคณะกรรมการกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้ปฏิเสธอย่างหัวชนฝาคือหลิวซ่าวฉี ผู้ที่มีโอกาสถูกนโยบายนี้ปฏิวัติเป็นคนแรกหากเหมาสามารถผลักดันให้นโยบายนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ แต่การคัดค้านนั้นก็ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ใด ๆ ผลของมันทำให้หลิวซ่าวฉีถึงกับต้องแลกมาด้วยชีวิตในที่สุด

ปี 1966 กระบวนการปฏิวัติวัฒน์    ธรรมเริ่มขึ้น และสิ้นสุดหลังจากนั้นอีกสิบปีเมื่อผู้ก่อตั้งได้ถึงแก่ชีวิตเหมามีกำลังหลักคือกองทัพปลดแอกที่มีหลินเปียวเข้าไปดำเนินงานรออยู่แล้วและกลุ่มเรดการ์ดที่ก่อตั้งขึ้นมาทีหลัง     เรดการ์ดเริ่มก่อตั้งโดยหงเว่ยปิง โดยมีการอุปมาว่าประธานเหมาต้องการ "เห้งเจีย" ตัวเล็ก ๆ จำนวนมากเพื่อกำราบสวรรค์ (พรรค) ก่อความยุ่งยากให้กับสวรรค์ เห้งเจียตัวเล็ก ๆ ในที่นี้ก็คือกำลังเยาวชน เด็กนักศึกษามหาวิทยาลัย และต่อมาก็ลุกลามไปถึงนักเรียนมัธยมปลายอีกด้วย

กระบวนการนั้นเริ่มจากการติดป้ายประกาศที่เรียกว่า "หนังสือพิมพ์กำแพง" ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เริ่มต้นที่ปักกิ่ง เรียกร้องให้นักศึกษาออกมาปฏิวัติ สอบสวน เปลี่ยนแปลง (และรวมไปถึงทำลาย) สังคมจีนเก่า โดยมีสัญลักษณ์คือนักศึกษาสวมปลอกแขนแดง ถือหนังสือปกแดง ออกอาละวาดจับกุมผู้ที่ (ถูกหาว่า) มีแนวความคิดเป็นทุนนิยม-ผู้นิยมต่างชาติหรือเป็นสายลับ-พวกนิยมลัทธิแก้ หรือข้อหาอะไรก็ได้ที่สามารถคิดขึ้นมาได้เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดฝ่ายตรงข้ามได้ เชื่อกันว่าเจียงชิงและพรรคพวกคือผู้อยู่เบื้องหลัง (หลักฐานจากการสอบสวนคดีในภายหลังสามารถแสดงความสัมพันธ์นี้ได้)

ผู้ที่ถูกจับรวมทั้งครอบครัว คนใกล้ชิด และเพื่อนร่วมงานจะถูกสอบสวน ตั้งข้อหา ทำทารุณกรรม และถูกลงโทษโดยไม่ใช้กระบวนการทางศาล เริ่มจากที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นอันดับแรก อาจารย์อาวุโสถูกนักศึกษาจับกุม สอบสวน คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ส่งคนเข้าไกล่เกลี่ย แต่ก็ไม่สามารถต้านแรงกดดันจากนักศึกษาได้ ผู้ที่ส่งคนไปซึ่งก็คือหลิวซ่าวฉีกลายเป็นคนรับผิดชอบความล้มเหลวนี้ไปโดยปริยาย และเป้าหมายลำดับต่อไปก็คือผู้มีอำนาจในพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางปฏิวัติวัฒนธรรม และรวมไปถึงสมาชิกคณะรัฐบาล ผู้ทรงคุณวุฒิในสถาบันและองค์กรต่าง ๆ โดยเจียงชิงและผู้ใกล้ชิดจะเป็นผู้กำหนดชื่อเป้าหมายและป้อนข้อมูลให้กับเรดการ์ด รวมทั้งกำหนดวิธีการทำงาน และอาจรวมถึงการให้ทุนสนับสนุนอีกด้วย

ภาพยนตร์เรื่อง จักรพรรดิ์โลกไม่ลืม (The last Emperor) มีฉากหนึ่งที่ปูยีซึ่งได้อิสรภาพจากการคุมขังของรัฐบาลจีน เดินไปตามถนน เห็นผู้คุมคนหนึ่งถูกมัดมือไพล่หลังเดินมาตามถนน และถูกรุมล้อมโดยเรดการ์ด ปูยีพยายามเข้าไปสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้คุมคนนี้ที่เป็นคนดีและน่าเคารพ แต่ก็ไม่ได้คำตอบอะไร ...นี่คือฉากหนึ่งของเรดการ์ด
เหมาเจ๋อตงสนับสนุนเรดการ์ดอย่างเต็มที่ มีการเดินขบวนสวนสนามตลอดปลายปีนั้น เด็กหนุ่มสาวสวมปลอกแขนสีแดง ในมือถือหนังสือปกแดงเดินผ่านจัตุรัสเทียนอันเหมินโดยมีเหมาเจ๋อตงคอยโบกมือต้อนรับ ที่น่าขนลุกก็คือคำพูดที่เปล่งออกมาจากปากคนหนุ่มสาวเหล่านั้นว่า "ขอให้ประธานเหมาอายุยืนหมื่นปี" ช่างเหมือนกับที่เหล่าเสนาบดีกล่าวกับฮ่องเต้ในยุคศักดินาไม่มีผิด

ภาพยนตร์เรื่อง Red violin มีช่วงหนึ่งที่ไวโอลินสีเลือดนี้เดินทางมาประเทศจีนในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม และรอดพ้นจากการถูกทำลายอย่างฉิวเฉียด ในยุคนั้น อะไรก็ตามที่เป็นของต่างชาติหรือจะส่อแสดงว่าเป็นของฝ่ายทุนนิยมจะถูกทำลายจนหมด ไม่ว่าหนังสือ เครื่องแต่งกาย เครื่องดนตรี บางคนยังบอกว่าแม้กระทั่งเลี้ยงปลาทองยังมีคนหาว่าเป็นพวกทุนนิยมได้



เจียงชิงในขณะมีอำนาจ

ท้ายที่สุด คณะกรรมการปักกิ่งถูกยุบ คณะกรรมการกรมการเมืองขาดอำนาจ ประธานเหมาตั้ง "กลุ่มปฏิวัติวัฒนธรรม" ขึ้นมาเป็นองค์กรที่มีอำนาจเหนือคณะกรรมการพรรค ปลายปี 1966 เริ่มมีเรดการ์ดตามโรงเรียนมัธยม และแพร่ขยายไปทั่วประเทศ  สิงหาคม 1966 เหมาเขียนหนังสือพิมพ์กำแพงด้วยลายมือตัวเองว่า  "ถล่มกองบัญชาการ"  ติดที่ประตูห้องประชุมของที่ทำการคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์นั่นหมายถึงสัญญาณบอกให้ขบวนปฏิวัติวัฒนธรรมออกมาทำลายกองบัญชาการ ซึ่งก็คือคณะผู้บริหารประเทศและคณะผู้บริหารพรรคนั่นเอง หลังจากนี้ไปสิบปี แผ่นดินจีนจะตกอยู่ในภาวะกลียุค สมาชิกพรรคฯ หลายคนถูกใส่ร้าย หลายคคนถูกปลดจากตำแหน่ง หลายคนถูกจองจำ และหลายคนถูกทำร้ายจนตายโดยปราศจากการไต่สวน    พฤติกรรมของเรดการ์ดนั้นเต็มไปด้วยความรุนแรงและรวดเร็วตามประสาของคนหนุ่มสาว แต่พฤติกรรมเหล่านั้นไม่ได้อยู่บนพื้นฐานที่ได้รับการฝึกฝนมาเพื่อการนี้ ประกอบกับนโยบายที่ไม่มีวัตถุประสงค์เด่นชัด พลังของคนรุ่นนี้จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้ามโดยใช้หน้ากากปฏิวัติวัฒนธรรมเท่านั้นเอง
ตุลาคม 1966 เหมาพูดกับนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลว่า "ผมเป็นผู้ทำให้เกิดกลียุคนี้ขึ้นมาเอง" แต่เหมาก็ไม่ได้หยุดขบวนการปฏิวัติอันนี้ ยังคงให้เรดการ์ดออกทำงานต่อไป


เหมาเจ๋อตงและโจวเอินไหล ยุคก่อนการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

กุมภาพันธ์ 1967 สมาชิกอาวุโสของพรรคเข้าพบเหมาเจ๋อตงเพื่อแสดงจุดยืนและปฏิเสธแนวทางปฏิวัติวัฒนธรรม หนึ่งในนั้นคือ จูเต๋อ ขุนพลผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับเหมาเจ๋อตง จนหลายคนเรียกชื่อรวมกันว่า จูเหมา และกระทั่งมีคนเข้าใจผิดว่าชื่อนี้หมายถึงคนคนเดียว


จูเต๋อและเหมาเจ๋อตงในระหว่างต่อสู้กับรัฐบาลก๊กมินตั๋ง

ผลของการพบกันครั้งนั้น
-เหมายกเลิกคอมมูนที่มีความพยายามจัดตั้งในเซี่ยงไฮ้
-ให้กองทัพปลดแอกทำงานมากขึ้น

แต่หลังจากนั้นไม่นาน เดือนเมษายน 1967 เหมาออกคำสั่งให้เรดการ์ดออกทำงานปฏิวัติต่อไป ยังคงมีเรดการ์ดออกทำการทั่วประเทศ แต่ด้วยการจัดตั้งที่ขาดรากฐานทำให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งขัดแย้งกันเองและขัดแย้งกับกองทัพปลดแอก มีการซ่องสุมกำลังอาวุธในหมู่เรดการ์ด การใช้อำนาจในทางที่ผิด และเกิดการปะทะจนแทบเป็นสงครามกลางเมืองในบางแห่งที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้

เดือนกรกฎาคม ที่พำนักผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ถูกล้อม หลายคนที่เข้าพบเหมาเจ๋อตงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์กลายเป็นเป้าโจมตี นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลต้องใช้ความสามารถและวาทศัลป์ในการช่วยเหลือผู้ที่ถูกกักอยู่ในวงล้อม โดยที่ตัวเขาเองก็เป็นเป้าหมายสำคัญด้วยเช่นกัน

ในเดือนเดียวกัน หลิวซ่าวฉีถูกเรดการ์ดจับกุมในขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ภรรยาคือหวางกวงเหม่ยผู้ที่มีความสามารถ เคยเป็นล่ามให้กับแขกต่างประเทศ ถูกจับกุม ถูกสอบสวนโดยเรดการ์ดโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ผู้ใกล้ชิดถูกบังคับให้ใส่ร้ายหลิวซ่าวฉีว่าเป็นชนชั้นนายทุน รับใช้ต่างชาติ เป็นพวกลัทธิแก้ สุดแต่จะสรรหามาให้ร้าย หลาย ๆ คนยอมถูกทรมานแต่ไม่ยอมใส่ความหลิวซ่าวฉี และหลายคนในจำนวนนั้นถูกขังลืมหรือถูกทำร้ายจนเสียชีวิต เดือนตุลาคมปีเดียวกัน มีการประชุมคณะกรรมการกรมการเมือง และมีมติให้ปลดหลิวซ่าวฉีออกจากทุกตำแหน่งรวมทั้งสมาชิกพรรคด้วย ..หลิวซ่าวฉีเสียชีวิตวันที่ 12 พฤศจิกายน 1967 ภรรยาถูกส่งไปทำงานหนักในชนบท   ถึงสิ้นปี 1967 สมาชิกอาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์หลายคนถูกใส่ร้ายและถูกลงโทษโดยอ้างว่าหลิวซ่าวฉีเป็นหัวหน้าแก็งค์บ่อนทำลายที่มีรากฐานอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์จีน

หลีอิ๋นเฉียว ผู้เขียน "น้ำตาเหมาเจ๋อตง" องครักษ์ผู้คอยดูแลเหมาเจ๋อตงมาเป็นเวลา 15 ปี ถูกพิษของการปฏิวัติวัฒนธรรม ครั้งหนึ่งเคยทะเลาะกับเจียงชิงจนกระทั่งเหมาต้องเข้ามาแก้ปัญหาด้วยการให้หลีอิ๋นเฉียวเขียนหนังสือวิจารณ์ตัวเองเพื่อบรรเทาความร้อนแรงของอารมณ์เจียงชิง เก็บหนังสือวิจารณ์ตนเองไว้กับตัวจนถูกเรดการ์ดนำไปเป็นหลักฐานใส่ร้าย ถูกจำขัง โชคดีที่เหมาเจ๋อตงทราบ จึงให้ปล่อยตัวออกมา
ผู้เฒ่าหลี่ตา เพื่อนผู้สูงวัยของเหมาเจ๋อตง หนึ่งในสมาชิกยุคบุกเบิกของพรรคคอมมิวนิสต์ ถูกทำร้ายร่างกายเสียชีวิต   เผิงเต๊อะไหว จอมพลผู้ไต่เต้ามาจากพลทหารก็ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตเช่นกัน   เถียนเจียอิง เลขานุการส่วนตัวของเหมา ถูกปลดและถูกใส่ร้าย คับแค้นจนต้องกินยาพิษฆ่าตัวตาย  เรดการ์ดออกจะกระทำการจนเกินความจำเป็นไปเสียแล้ว

พฤษภาคม 1968 ทางกองทัพปลดแอกได้เริ่มจัดตั้งคณะกรรมการปฏิวัติขึ้นในหลายมณฑล เรดการ์ดที่ก้าวร้าวรุนแรงถูกสลายกำลัง เนื่งจากประธานเหมามองเห็นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็น "สงครามกลางเมือง" วิธีที่จะยุติความโกลาหลนั้น เหมาได้สลายกองกำลังเรดการ์ด เด็กหนุ่มสาวกว่ายี่สิบล้านคนถูกส่งออกไปศึกษาชีวิตชนบทห่างไกลเพื่อทำงานหนัก และให้เข้าถึงชีวิตของชนชั้นกรรมาชีพที่แท้จริง

นึกถึงภาพยนตร์จีนที่เคยดูอยู่เรื่องหนึ่ง; ซิ่ว ซิ่ว เธอบริสุทธิ์ (Xiu Xiu, The Send Down Girl) ที่กล่าวถึงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องสูญเสียความบริสุทธิ์ทางจิตวิญญาณไปกับการปฏิวัติวัฒนธรรม ถูกส่งไปทำงานหนักในชนบท อยู่ในความทุกข์ยากและการกดขี่ของคนที่มีอำนาจและโอกาสที่เหนือกว่า โดยไม่มีโอกาสได้กลับไปยังบ้านเกิด และสิ่งเหล่านี้ก็ค่อย ๆ ทำลายเธอลงทีละนิด



เติ้งเสี่ยวผิง หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการปฏิวติวัฒนธรรม
ภาพเมื่อปี 1977 หลังพ้นยุคปฏิวัติวัฒนธรรมไปแล้ว

           สำหรับเติ้งเสี่ยวผิง รองนายกรัฐมนตรี ในเบื้องต้นถูกคุมตัวในบ้านพัก จากนั้นถูกเนรเทศไปหนานซางในปี 1969 ถูกปลดจากทุกตำแหน่งในพรรคและในรัฐบาล ยกเว้นตำแหน่งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ บุคคลที่มีอาวุโสเป็นอันดับสี่ในสายการเมืองในยุคนั้นต้องไปเป็นคนงานในโรงงานเล็ก ๆ เติ้งเสี่ยวผิงผู้ซึ่งเคยสนับสนุนเหมาเจ๋อตงในยุค 28 บอลเชวิคและเคยถูกปลดจากตำแหน่งพร้อมกับเหมาเจ๋อตงในสมัยนั้น ถูกโค่นล้มเป็นครั้งที่สองในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม (หลังจากนี้ไป ชายคนนี้จะล้มอีกหนึ่งครั้ง แต่ในทุกครั้งที่ชายร่างเล็กคนนี้ล้ม จะสามารถลุกยืนขึ้นมาได้เสมอ) ลูกชายคนหนึ่งของเติ้งต้องถูกทำร้ายจนพิการ ครอบครัวต้องแตกแยกเป็นเวลาเกือบสิบปี




เหมาเจ๋อตงในช่วงสูงวัย

        พิษของการปฏิวัติวัฒนธรรมยังคงคุกรุ่นอยู่แม้ว่ากองกำลังเรดการ์ดจะถูกสลายไปแล้ว ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 9 สมาชิกที่เคยร่วมประชุมในครั้งที่ 8 หายไปถึงสองในสาม ! ในการประชุมครั้งนี้มีการกำหนดให้หลินเปียวเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อจากประธานเหมา แต่ในช่วงหลัง ประธานเหมากลับมองว่าหลินเปียวนั้นเป็นพวกยกย่องตัวบุคคลเกินจริง (หลิวเคยบอกว่าอัจฉริยะอย่างประธานเหมานั้นต้องสักร้อยปีถึงจะมีมาเกิดสักคน เหมาถามกลับไปว่าตัวเหมาเองก็เกิดห่าจากคาร์ล มาร์กซ หรือ ซุนยัดเซน ไม่นาน จะไปบอกว่าร้อยปีจะมีเกิดมาสักคนได้อย่างไร) นอกจากนี้เหมายังมองว่าหลินเปียวต่อต้านนโยบายเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา เป็นพวก "ซ้ายตกขอบ" และ "ทุจริต" จนกระทั่งในที่สุด เหมาเจ๋อตงได้ยุบตำแหน่งประธานประเทศ (ประธานาธิบดี) เป็นตำแหน่งที่หลินเปียวควรจะได้เป็นต่อหลังจากหลิวซ่าวฉีเสียชีวิต นั่นเป็นเหมือนสัญลักษณ์ว่าเส้นทางการเมืองของหลินเปียวเริ่มมืดมนมากขึ้นเรื่อย ๆ และอาจดับลงได้ในไม่ช้า

            หลินเปียวจึงเริ่มดำเนินงานใต้ดิน โดยพยายามปฏิวัติยึดอำนาจจากเหมาเจ๋อตงในช่วงปี 1970-1971 โดยแต่งตั้งลูกชายให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพอากาศ และพยายามรวมรวมคนเพื่อก่อการปฏิวัติ แต่ท้ายที่สุดเมื่อปฏิบัติการล้มเหลว หลินเปียวจึงพาคนสนิทเดินทางโดยเครื่องบินหนีออกนอกประเทศ แต่ท้ายที่สุดเครื่องบินตกและทุกคนบนเครื่องเสียชีวิต หลักฐานการปฏิวัติได้มาจากเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งที่ลูกน้องหลินเปียวพยายามบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศแต่นักบินบินกลับและถูกยิงเมื่อลงจอดแล้ว

         หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคอย่างมโหฬาร แต่กลุ่มของเจียงชิงยังกุมอำนาจใหญ่อยู่ภายในพรรค ในระยะหลัง โจวเอินไหลเริ่มผลักดันให้เติ้งเสี่ยวผิงกลับเข้ามาทำงานในพรรคอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็จะเป็นการคานอำนาจของกลุ่มเจียงชิงได้เป็นอย่างดี เหมาเจ๋อตงที่ยกย่องความสามารถของโจวเอินไหลและเชื่อฝีมือเติ้งเสี่ยวผิง (แต่ไม่เชื่อนโยบาย) จึงเรียกใช้งานเติ้งเสี่ยวผิงในฐานะรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ทำให้กลุ่มปฏิวัติวัฒนธรรมซึ่งก็คือแก็งค์ของเจียงชิงนั้นไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง และหาทางทำลายฝ่ายนายกโจวอยู่ตลอดเวลา

        ในระยะหลัง เริ่มเกิดความเหินห่างระหว่างประธานเหมาและเจียงชิง แม้ประธานเหมาจะเชื่อใจให้เจียงชิงกุมบังเหียนการปฏิวัติวัฒนธรรม แต่ประธานเหมาก็ไม่เชื่อเช่นกันว่าเจียงชิงและคณะจะสามารถเป็นเสาหลักของพรรคได้ ความเหินห่างเกิดขึ้นจนกระทั่งเจียงชิงเอง หากจะเข้าพบเหมาเจ๋อตงก็ต้องทำเรื่องเสนอขอเข้าพบอย่างเป็นทางการ จะพูดคุยก็ต้องผ่านเลขาและคนดูแลส่วนตัวซึ่งเป็นคนของเจียงชิง และเป็นเหมือนกระบอกเสียงของเจียงชิงที่อยู่ข้างประธานเหมา


นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล

        ปี 1974 นายกโจวเอินไหลเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคมะเร็ง ในปีนั้นเองที่ประธานเหมาแต่งตั้งเติ้งเสี่ยวผิงเป็นนายกรัฐมนตรี และเริ่มมีการแต่งตั้งสมาชิกอาวุโสของพรรคกลับเข้ารับตำแหน่งมากขึ้นเรื่อย ๆ และในปีนี้อีกเช่นกันที่ประธานเหมาบัญญัติคำว่า "แก๊งสี่คน" ขึ้นมาใช้เรียก เจียงชิง จางชุนเฉียง เหยาเหวินหยุน และ หวางหงเหวิน และกล่าวตำหนิเจียงชิงในที่ประชุมคณะกรรมการกรมการเมือง





นายกโจวเอินไหลกล่าวปราศรัยในปี 1975 เป็นครั้งสุดท้ายของชีวิต

         มกราคม 1975 มีการประชุมสมัชชาแห่งชาติเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1964 ในปีเดียวกันนี้เอง โครงการพัฒนาพรรคในปีนั้นไม่ได้เน้นการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งเป็นจุดอ่อนให้เจียงชิงและพรรคพวกโจมตีโดยผ่านทางคนสนิทของเหมา โดยบอกผ่านไปทางหลานชายของประธานเหมา คือ เหมาเหยียนซิน ลูกของน้องชายเหมาเจ๋อตงว่า เติ้งเสี่ยวผิงไม่เคยพูดถึงปฏิวัติวัฒนธรรม ไม่เคยวิจารณ์หลิวซ่าวฉี และเชื่อฟังแต่โจวเอินไหล แม้นายกโจวจะอยู่โรงพยาบาลก็ยังไปพูดคุยกันอยู่เสมอ ๆ ท้ายที่สุดมีการนำไปพูดในที่ประชุม ซึ่งเติ้งเสี่ยวผิงก็ได้กล่าวคัดค้าน   แต่ท้ายที่สุดเติ้งเสี่ยวผิงก็ถูกคำสั่งพักงาน
        8 มกราคม 1976 นายกโจวเอินไหลเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ในขณะนั้นเจียงชิงเป็นผู้ควบคุมกลไกสื่อสารมวลชนของรัฐ ประกาศการเสียชีวิตและประกาศไว้อาลัยจึงแทบจะไม่มีให้พบเห็นตามสื่อต่าง ๆ การตายของคนที่สร้างคุณประโยชน์เป็นอย่างสูงให้สาธารณรัฐประชาชนจีนกลับถูกอำนาจทางการเมืองปิดบังอย่างถึงที่สุด   สิ่งที่สร้างความแปลกใจให้กับทุกคนในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจียงชิงก็คือ ประธานเหมาวางตัว ฮว่ากั๋วเฝิง 'เด็กสร้าง' จากมณฑลเดียวกัน ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ซึ่งนั่นสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างสูงให้กับเจียงชิง เพราะคาดว่าคนของตัวเองจะได้ขึ้นตำแหน่งนี้
    มีนาคม 1976 เจียงชิงและแกงค์สีคนเริ่มเปิดประเด็นโจมตีฝ่ายที่ถูกเรียกว่าทุนนิยมผ่านทางหนังสือพิมพ์ในเซี่ยงไฮ้ แต่กลับถูกต่อต้านจากคนอ่านอย่างรุนแรง โรงพิมพ์ถูกล้อม คนออกมาเดินขบวนต่อต้านและโจมตีแกงค์สี่คน     เดือนเมษายน มีคนมาร่วมไว้อาลัยที่จัตุรัสเที่ยนอันเหมินเป็นจำนวนมาก พวกหรีดและคำไว้อาลัยวางอยู่เต็มฐานของอนุสวรีย์วีรชนที่เทียนอันเหมิน


พวงหรีดและคำไว้อาลัยนายกโจวเอินไหล

           5 เมษายน 1976 มีการสลายการชุมนุมของคนที่มาร่วมไว้อาลัยให้นายกโจว มีคนอ้างว่าพบเห็นเติ้งเสี่ยวผิงอยู่ในบริเวณที่ชุมนุม เป็นเหตุให้เหมาออกคำสั่งปลดเติ้งเสี่ยวผิงจากทุกตำแหน่งในเวลาต่อมา และให้คุมตัวไว้ ในหนังสือ "เติ้งเสี่ยวผิง ว่าด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรม" เขียนโดยมาดามเติ้งหยง บอกว่า วังตงซิงเป็นผู้สอบถามเติ้งเสี่ยวผิงว่าเป็นผู้นำการชุมนุมหรือไม่ เติ้งเสี่ยวผิงตอบว่าเคยไปตัดผมแถวนั้น แต่ไม่ได้ไปร่วมการชุมนุม

     เหมาเจ๋อตงเป็นคนที่เห็นคุณค่าความสามารถของเติ้งเสี่ยวผิงมาโดยตลอด เคยกล่าวชมเชยเติ้งในที่ประชุมหลายครั้ง สำหรับโทษครั้งนี้ ประธานเหมาบอกคนใกล้ชิดว่าที่ยังคงตำแหน่งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ไว้เพราะ 'จะได้เอาบัตรสมาชิกเก็บไว้ให้ลูกหลานดูได้    หลังจากนั้น นายพลเย่เจี้ยนอิง รมว.กลาโหม ส่งเติ้งไปที่กว่างโจว มณฑลกว่างตงเพื่อลี้ภัยและอยู่ในความดูแลของฝ่ายทหารที่เป็นห่วงสวัสดิภาพของเติ้งเสี่ยวผิง

      7 เมษายน 1976 มีแถลงการณ์ให้ฮว่ากั๋วเฝิงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี   มิถุนายน 1976 ประธานเหมายังแสดงท่าทีสนับสนุนการปฏิวัติวัฒนธรรม ฝ่ายฮว่ากั๋วเฝิงกับเจียงชิงก็มีการปะทะคารมกันในที่ประชุมวางแผนรัฐและต่อต้านกันไปมา ฝ่ายฮว่ากั๋วเฝิงได้อาศัยสมาชิกอาวุโสที่ต่อต้านเจียงชิงเป็นฐานสนับสนุน

      9 กันยายน 1976 เวลา 02:30 น. ประธานเหมาถึงแก่อสัญกรรม  ประธานเหมาแต่งตั้งฮว่ากั๋วเฝิงเป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจากต้องการหาคนกลางที่ไม่สุดขั้วไปทางใดทางหนึ่งมาเป็นตัวประสานรอยร้าวภายในพรรค ดูเหมือนเหมาจะกลัวกระแสทุนนิยมในฝ่ายเติ้ง แต่ก็ไม่ไว้ใจกระแสปฏิวัติไม่ลืมหูลืมตาของเจียง จึงพยายามหาทางออกโดยวิธีประนีประนอม อย่างนี้อาจเรียกได้ว่าเหมาเป็นหนึ่งในลัทธิยอมจำนนได้เหมือนกัน

        เจียงชิงอ้างว่าประธานเหมาต้องการให้เป็นประธานคณะกรรมการกลางพรรค โดยอาศัยฐานเสียงในเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่สมัยริเริ่มสร้างคอมมูนเมื่อหลายปีก่อน แต่วังตงซิง ผู้คุมกำลังในเซี่ยงไฮ้ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ ท้ายที่สุด แก็งค์สี่คนก็ทยอยกันถูกจับทีละคน

        เมื่อสิ้นประธานเหมา คนคอยคุ้มครองฝ่ายเจียงชิงก็หมดไป ประธานเหมาเคยเตือนเจียงชิงแล้วว่าจะเป็นศัตรูกับทุกฝ่ายไม่ได้ แต่ดูเหมือนเจียงชิงจะลุแก่อำนาจและคิดว่าฐานกำลังของตนสามารถปกป้องสวัสดิภาพของตนและสมัครพรรคพวกได้ แต่เจียงชิงคิดผิด    ในวันพิจารณาคดีเรื่องแก็งค์สี่คน (ร่วมกับคดีหลินเปียวที่เสียชีวิตไปแล้วด้วย) มีจำเลยมาขึ้นศาลทั้งหมดสิบคน บางคนติดต่อทนายเป็นการส่วนตัว บางคนขอใช้ทนายที่ศาลตั้งให้ ส่วนเจียงชิงปฏิเสธทนายความหลายต่อหลายคนที่เป็นตัวเลือก ก่อนจะขึ้นฟังคำฟ้องแบบไม่มีทนายความ


เจียงชิงถูกพิพากษาประหารชีวิต และลดโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิต ก่อนจะฆ่าตัวตายในคุก

เหยาเหวินหยวนถูกตัดสินจำคุก 15 ปี

   จางชุนเฉียวถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต 


หวางหงเหวินถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต เสียชีวิตด้วย      โรคมะเร็งในระหว่างถูกจำคุก

      ในปี 1978 เติ้งเสี่ยวผิง ผู้ที่ล้มสามครั้ง สามารถลุกขึ้นมาได้ทั้งสามครั้ง ผู้ที่ไม่สนใจว่าแมวจะสีขาวหรือดำ (หรือแดง) แต่ถ้าจับหนูได้ ก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุดของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเต็มภาคภูมิ  ปิดตำนานสิบปีแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรมแต่เพียงเท่านี้


อ้างอิง
ที่มา: http://www.bloggang.com
ที่มา: http://th.wikipedia.org.com  
 ที่มา: http://likalen3.blogspot.com  
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น