วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

การเขียนรายงานที่ดี

โดย นางสาวปรียาภรณ์ ภัยมณี


การเขียนรายงานที่ดี 


การเขียนรายงาน เป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับการเรียน ในระดับอุดมศึกษา  ทั้งนี้เนื่องจากการศึกษาในระดับนี้จะเน้นให้ผู้เรียนรู้จักศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง  สามารถแสวงหาความรู้   ฝึกฝนการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้    รวมทั้งสามารถนำเสนอผลการศึกษาเรียนรู้ของตนเองได้      นักศึกษาจะเขียนรายงานทางวิชาการได้อย่างไร   รายงานลักษณะใดที่จัดว่าเป็นรายงานที่ดี    มีระเบียบวิธีการอะไรบ้างที่จะต้องเรียนรู้ก่อนทำรายงาน   ในบทความนี้จะให้คำตอบที่เป็นหลักปฏิบัติของคำถามเหล่านั้น   เพื่อให้นักศึกษาได้นำไปใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการเขียนรายงาน 

ลักษณะของรายงานที่ดี
            รายงานที่ดีควรมีลักษณะที่สำคัญดังต่อไปนี้  
1.  รูปเล่ม  ประกอบด้วยหน้าสำคัญต่าง ๆ ครบถ้วน  การพิมพ์ประณีตสวยงาม  การจัดย่อหน้าข้อความเป็นแนวตรงกัน    ใช้ตัวอักษรรูปแบบ (Font) เดียวกันทั้งเล่ม  จัดตำแหน่งข้อความและรูปภาพได้สอดคล้องสัมพันธ์ และอ่านง่าย
2.  เนื้อหา  เป็นการนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าที่น่าสนใจของผู้เขียน    แสดงถึงข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง  เป็นปัจจุบันทันสมัย   ครอบคลุมเรื่องได้อย่างสมบูรณ์  แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งของผู้เขียน   นอกจากแสดงความรู้ในข้อเท็จจริงแล้ว ผู้เขียนควรแสดงถึงความคิดสร้างสรรค์  นำเสนอความรู้หรือประสบการณ์ใหม่ๆ ทรรศนะใหม่ ๆ    หรือแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องที่กําลังศึกษาอยู่     ด้วยการเรียบเรียงเนื้อหาเป็นไปตามลำดับไม่ซ้ำซากวกวน    แสดงให้เห็นความสามารถในการกลั่นกรอง  สรุปความรู้และความคิดที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ
3. สำนวนภาษา  เป็นภาษาที่นิยมโดยทั่วไป   สละสลวย  ชัดเจน  มีการเว้นวรรคตอน สะกดการันต์ถูกต้อง  ลำดับความได้ต่อเนื่อง  และสัมพันธ์กันตลอดเรื่อง
4. การอ้างอิงและบรรณานุกรมถูกต้องตามแบบแผน   มีการแสดงหลักฐานที่มาของข้อมูลอย่างถูกต้องละเอียดถี่ถ้วน  เมื่อกล่าวถึงเรื่องใดก็มีหลักฐานอ้างอิงเพียงพอและสมเหตุสมผล     เลือกใช้ข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้   ซึ่งการแสดงหลักฐานอ้างอิงและบรรณานุกรมจะบ่งบอกถึงคุณภาพทางวิชาการของรายงานนั้น

ข้อควรคำนึงในการทำรายงาน
วัตถุประสงค์ของอาจารย์ผู้สอนที่กำหนดให้นักศึกษาทำรายงาน  ก็เพื่อให้รู้จักการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง   ซึ่งการเรียนรู้ด้วยตนเองจะทำให้ผู้เรียนสามารถติดตามความรู้ได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางวิชาการ  ช่วยให้จดจำเรื่องราวที่ตนศึกษาได้อย่างแม่นยำและยาวนาน   เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว  อาจารย์ผู้สอนจึงมักจะพิจารณาประเมินคุณค่าของรายงานดังนี้
                     1.  ต้องไม่ใช่ผลงานที่คัดลอกของผู้อื่น (สำคัญมาก)  
              2.  ต้องเป็นผลงานที่แสดงข้อเท็จจริงอย่างถูกต้องครบถ้วน  (คือมีเนื้อหาสาระที่สามารถตอบคำถาม  ใคร  ทำอะไร  ที่ไหน เมื่อไร ได้)  และมีเนื้อหาสาระที่แสดงเหตุผล แสดงความคิดหรือทรรศนะของผู้เขียน ที่เป็นผลจากการได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเหล่านั้น   (คือมีเนื้อหาที่ตอบคำถาม  ทำไม- เพราะเหตุใด   ทำอย่างไร) 
               3. ต้องเป็นผลงานที่จัดรูปเล่มอย่างประณีต  อ่านทำความเข้าใจเนื้อหาได้ง่าย    รายงานที่ดีจึงต้องจัดรูปเล่มให้อ่านง่าย  เรียบเรียงเนื้อหาให้เป็นลำดับ  กำหนดหัวข้อเรื่องไม่ซ้ำซ้อนวกวน (ต้องวางโครงเรื่องให้ดี)
                  4.   ต้องเป็นผลงานที่แสดงถึงจรรยาบรรณของนักวิชาการที่ดี  คือมีการอ้างอิงและทำบรรณานุกรมที่ถูกต้องตามแบบแผน  แสดงหลักฐานที่มาอย่างถูกต้องละเอียดถี่ถ้วน

ขั้นตอนการทำรายงาน
การทำรายงานให้ประสบความสำเร็จ  ควรวางแผนดำเนินการเป็นลำดับขั้นตอน ดังนี้
1.              กำหนดเรื่อง
การกำหนดเรื่องที่จะทำรายงาน  ต้องเกิดจากความต้องการอยากรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ควรเป็นเรื่องที่นักศึกษาสนใจ    หรือมีความรู้ในเรื่องนั้นอยู่บ้างแล้ว    ขอบเขตของเรื่องไม่ควรกว้างหรือแคบเกินไป   เพราะถ้ากว้างเกินไปจะทำให้เขียนได้อย่างผิวเผิน หรือถ้าเรื่องแคบเกินไปอาจจะไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะเขียนได้   ในการกำหนดเรื่องควรคิดโครงเรื่องไว้คร่าว ๆ  ว่าจะมีเนื้อหาในหัวข้อใดบ้าง 
2.              สำรวจแหล่งข้อมูล
แหล่งข้อมูลเบื้องต้นควรเริ่มที่ห้องสมุดและอินเทอร์เน็ต  ในการสำรวจควรใช้เครื่องมือที่แหล่งนั้นจัดเตรียมไว้ให้ เช่นห้องสมุดควรใช้  บัตรรายการ  บัตรดัชนีวารสาร  และ โอแพค (OPAC)  เป็นต้น  การค้นทางอินเทอร์เน็ตควรใช้เว็บไซต์ Google, Yahoo  เป็นต้น  นักศึกษาต้องเรียนรู้วิธีใช้เครื่องมือและคำสั่งในการสืบค้นให้เข้าใจดีเสียก่อน  จึงจะช่วยให้ค้นคว้าได้รวดเร็วและได้เนื้อหาสาระที่ครบถ้วน     เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการแล้วจะต้องจัดเก็บรวบรวมให้เป็นระบบ  เป็นหมวดหมู่    เอกสารที่รวบรวมได้ทุกรายการต้องเขียนบรรณานุกรมบอกแหล่งที่มาไว้ด้วย  เพื่อใช้ค้นคืนไปยังแหล่งเดิมได้อีกในภายหลัง
3.              กำหนดโครงเรื่อง
การกำหนดโครงเรื่อง เป็นการกำหนดขอบข่ายเนื้อหาของรายงานว่าจะให้มีหัวข้อเรื่องอะไรบ้าง  โครงเรื่องที่ดีจะต้องมีสาระสำคัญที่ตอบคำถาม  5W1H ได้ครบถ้วน  กล่าวคือ เนื้อหาของรายงานควรตอบคำถามต่อไปนี้ได้   เช่น     ใครเกี่ยวข้อง (Who)  เป็นเรื่องอะไร (What)  เกิดขึ้นเมื่อไร (When)  ที่ไหน (Where)   ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น--เพราะเหตุใด (Why)   เรื่องนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือมีวิธีทำอย่างไร (How) 
การคิดโครงเรื่องอาจใช้ผังความคิด (Mind map) ช่วยในการกำหนดประเด็นหัวข้อใหญ่หัวข้อรอง   ส่วนการจัดเรียงหัวข้อให้มีความสัมพันธ์เป็นลำดับต่อเนื่องที่ดี อาจใช้ผังความคิดแบบก้างปลา (Fish bone diagram) หรือแบบต้นไม้ (Tree diagram)   จะช่วยให้เห็นความสัมพันธ์ของแนวคิดได้ง่ายขึ้น    การตั้งชื่อหัวข้อควรให้สั้นกระชับได้ใจความครอบคลุมเนื้อหาในตอนนั้น ๆ
4.              รวบรวมข้อมูลตามโครงเรื่อง 
เมื่อกำหนดโครงเรื่องแน่ชัดดีแล้ว  จึงลงมือสืบค้นและรวบรวมข้อมูลตามบรรณานุกรมที่รวบรวมไว้ในขั้นตอนการสำรวจ     การรวบรวมอาจจะถ่ายเอกสารจากห้องสมุด หรือพิมพ์หน้าเอกสารที่ค้นได้จากอินเทอร์เน็ต  เสร็จแล้วนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาแยกตามหัวข้อเรื่องที่กำหนดไว้
5.              อ่านตีความ สังเคราะห์ข้อมูล และจดบันทึก
การอ่านให้เน้นอ่านจับใจความสำคัญของเรื่อง  เพื่อดึงเนื้อหาที่สอดคล้องกับประเด็น แนวคิดต่างๆ ตามโครงเรื่องที่กำหนดไว้   ทำการบันทึกเนื้อหาลงในบัตรบันทึก  เสร็จแล้วนำบัตรบันทึกมาจัดกลุ่มตามประเด็นแนวคิด เพื่อใช้ในการเรียบเรียงเนื้อหาของรายงานต่อไป    หรืออาจทำเครื่องหมายตรงใจความสำคัญ (ขีดเส้นใต้) แทนการทำบัตรบันทึก  (กรณีเป็นหนังสือของห้องสมุดไม่ควรขีดเขียนหรือทำเครื่องหมายใดๆ)
6.              เรียบเรียงเนื้อหา
เนื้อหาสาระที่นำมาเรียบเรียงต้องเป็นเนื้อหาที่ได้จากการประเมิน วิเคราะห์ และสังเคราะห์จากขั้นตอนที่ 5 มาแล้ว   (การวิเคราะห์และสังเคราะห์สารสนเทศ   สามารถศึกษาและฝึกปฏิบัติได้ในรายวิชาสารสนเทศและการศึกษาค้นคว้า)

 ส่วนประกอบของรายงาน
รายงานประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วนคือ 1) ส่วนนำเรื่อง ได้แก่ ปกนอก  ปกใน  คำนำ สารบัญ  2) ส่วนเนื้อเรื่อง ประกอบด้วย บทนำ  เนื้อเรื่อง และบทสรุป  3) ส่วนอ้างอิง ประกอบด้วยรายการอ้างอิง บรรณานุกรม  และ  4) ภาคผนวก  ซึ่งแต่ละส่วนควรมีสาระสำคัญดังนี้
1.     ปกนอกและปกใน  ปกนอกใช้กระดาษอ่อนที่หนากว่าปกในซึ่งอาจเลือกสีได้ตามต้องการ  ไม่ควรมีภาพประกอบใด ๆ   ส่วนปกในและเนื้อเรื่องให้ใช้กระดาษขาวขนาด A4 ความหนาไม่ต่ำกว่า 80 แกรม   ปกในพิมพ์ข้อความเช่นเดียวกับปกนอก    ข้อความที่ปกนอกปกในประกอบด้วย  ชื่อเรื่องของรายงาน  ชื่อผู้เขียน  รหัสประจำตัว  ชื่อวิชา   ชื่อสถานศึกษา  และช่วงเวลาที่ทำรายงาน  ดังตัวอย่าง

2.     คำนำ   กล่าวถึงความสำคัญ วัตถุประสงค์ ความเป็นมา  ประเด็นหัวข้อเนื้อหาในรายงานเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจอยากติดตามเรื่อง ซึ่งอาจเป็นปัญหา ประโยชน์หรือผลกระทบอย่างไรต่อผู้อ่านและสังคม  อาจกล่าวขอบคุณหรือบอกแหล่งที่มาของข้อมูล เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในข้อมูลที่นำเสนอ  สุดท้ายระบุชื่อ-สกุล ผู้เขียนรายงานและวันเดือนปีในการทำรายงาน  ดังตัวอย่าง

3.     สารบัญ   ระบุหัวข้อใหญ่ หัวข้อรอง (ถ้ามี) และเลขหน้า     ใช้จุดไข่ปลาลากโยงจากหัวข้อไปยังเลขหน้าให้ชัดเจน   การพิมพ์สารบัญต้องจัดย่อหน้าและเลขหน้าให้ตรงกัน  ดังตัวอย่าง

4.     เนื้อเรื่อง   เนื้อเรื่องประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วนคือ  ส่วนนำเรื่อง  ส่วนเนื้อเรื่อง  และส่วนสรุป  
ส่วนนำเรื่องหรือบทนำ  ต้องเขียนให้ผู้อ่านเกิดความสนใจอยากที่จะอ่านเนื้อหาต่อไป    บทนำอาจกล่าวถึง ความสำคัญ  บทบาท  ปัญหา  ผลกระทบ  วัตถุประสงค์  ขอบเขตเนื้อหา  หรือประโยชน์ที่ผู้อ่านจะได้รับ เป็นต้น  ซึ่งประเด็นที่กล่าวนี้ไม่จำเป็นต้องมีทั้งหมด แต่อย่างน้อยให้มีประเด็นใดประเด็นหนึ่งดังที่กล่าว 
ตัวอย่างการเขียนบทนำเรื่องแนวคิดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน

 การอ่านเป็นสื่อกลางของการเรียนรู้  ผู้ที่อ่านมากย่อมมีความรู้มาก  เราสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยการอ่าน  แต่จากผลการศึกษาของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ)  พบว่าความสามารถของผู้เรียนในการแสวงหาความรู้อยู่ในระดับที่ต้องปรับปรุง  การอ่านของนักเรียนไทยตกต่ำลงทุกปี  จึงเป็นปัญหาที่น่าสนใจในการช่วยกันส่งเสริมทักษะการอ่านให้กับนักเรียนไทย  เพื่อให้เกิดความรู้สึกอยากอ่าน  มากกว่าการอ่านเพื่อสอบเก็บคะแนน

ส่วนเนื้อเรื่องเป็นส่วนที่แสดงข้อเท็จจริง  ข้อเสนอแนะ  ความคิดเห็น หรือผลสรุปที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าของผู้เขียน   การนำเสนอเนื้อหาจะต้องมีหลักฐานอ้างอิง มีข้อมูลสถิติ ภาพประกอบ ตาราง แผนที่ แผนภูมิ ตามความจำเป็น  ซึ่งจะทำให้เนื้อเรื่องมีความน่าเชื่อถือและเข้าใจได้ง่าย   (ดูตัวอย่างการอ้างอิงในข้อ 5)
ส่วนสรุป เป็นส่วนชี้ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการบอกผู้อ่าน  ผู้เขียนอาจสรุปเนื้อหาตามลำดับหัวข้อใหญ่แต่ละหัวข้อทั้งหมดจนจบ  โดยสรุปหัวข้อละ 1 ย่อหน้า   หรือเลือกสรุปเฉพาะประเด็นสำคัญสั้นๆ ก็ได้  ที่สำคัญในการสรุปจะต้องไม่นำเสนอประเด็นเนื้อหาใหม่อีก
5.     การอ้างอิง   การอ้างอิงจะแทรกเป็นวงเล็บไว้ในเนื้อเรื่อง   เพื่อบอกแหล่งที่มาของข้อมูล  เป็นการยื่นยันความถูกต้องและแสดงความน่าเชื่อถือของข้อมูล   การอ้างอิงให้ระบุชื่อผู้แต่ง  ปีพิมพ์  และเลขหน้า   หรือที่เรียกว่าอ้างอิงแบบ  นาม- ปี  ซึ่งมีวิธีการดังนี้
5.1    ระบุไว้หลังข้อความที่อ้าง  เช่น  
สารสนเทศ หมายถึง ข้อเท็จจริง เหตุการณ์ ที่ผ่านกระบวนการ ประมวลผล มีการถ่ายทอด และการบันทึกไว้ในรูปแบบต่างๆ เช่น หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ รายงาน โสตทัศนวัสดุ เทปคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการถ่ายทอดในรูปแบบอื่นๆ เช่น คำพูด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ให้ผู้รับสารได้ทราบ   (ประภาวดี  สืบสนธิ์, 2543, หน้า 6)  
5.2     ระบุไว้ก่อนข้อความที่อ้าง  เช่น 
ชุติมา  สัจจานันท์ (2530, หน้า 17) ให้ความหมายของสารสนเทศไว้ว่า คือ ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ข้อสนเทศ สารสนเทศ ทั้งในรูปแบบสิ่งพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ และวัสดุย่อส่วน เพื่อใช้ประโยชน์ทางการสื่อสารและการพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งส่วนบุคคลและสังคม

หลักธรรมาภิบาล มีองค์ประกอบที่สำคัญ 6 ประการดังนี้  (สำนักงาน ก.พ., 2550,  หน้า 15)
1.  หลักนิติธรรม
2. หลักคุณธรรม
3. หลักความโปร่งใส

6.     บรรณานุกรม  หน้าบรรณานุกรมจะอยู่ต่อจากส่วนเนื้อเรื่อง   โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือที่นำมาอ้างอิงไว้ในรายงานได้แก่  ชื่อผู้แต่ง ปีพิมพ์  ชื่อบทความ  ชื่อหนังสือ  ครั้งที่พิมพ์  และสถานที่พิมพ์  เป็นต้น 
                   การเขียนบรรณานุกรมมีรูปแบบที่เป็นสากลหลายรูปแบบ  แต่ที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบันมีอยู่ 2 แบบคือ แบบ MLA (Modern Language Association Style) ซึ่งนิยมใช้ในสาขามนุษยศาสตร์  และแบบ  APA (American Psychological Association Style) ซึ่งนิยมใช้ในสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์     ในที่นี้จะแนะนำการเขียนบรรณานุกรมแบบ  APA   เพื่อให้นักศึกษาใช้เป็นหลักในการเขียนบรรณานุกรมประกอบการทำรายงานทางวิชาการ
                   การเขียนบรรณานุกรมตามรูปแบบ APA  มีหลักเกณฑ์กำหนดแยกตามชนิดของสื่อแต่ละประเภทดังนี้

หนังสือ
                   รูปแบบ: ชื่อผู้แต่ง.  (ปีพิมพ์).  ชื่อหนังสือ  (ครั้งที่พิมพ์).  สถานที่พิมพ์ : สำนักพิมพ์

                                อุทัย  หิรัญโต. (2531). หลักการบริหารบุคคล. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
                                   Baxter, C. (1997). Race equality in health care and education.
                                              Philadelphia : Ballière Tindall.

วารสาร  นิตยสาร            
                   รูปแบบ: ชื่อผู้แต่ง.  (ปีพิมพ์).  ชื่อบทความ.  ชื่อวารสาร, ปีที่(ฉบับที่),  เลขหน้า.                                           
                                   สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. (2537).  ความรู้ทั่วไป
                                                เกี่ยวกับเห็ดพิษ.  เกษตรก้าวหน้า, 9(2), 45-47
                                   Klimoski, R., & Palmer, S. (1993). The ADA and the hiring process in
                                                organizations. Consulting Psychology Journal: Practice and
                                                Research, 45(2), 10-36.

หนังสือพิมพ์    
                   รูปแบบ: ชื่อผู้แต่ง.  (ปี, เดือน วัน).  ชื่อบทความ.  ชื่อหนังสือพิมพ์, หน้า

                                   สุนทร  ไชยชนะ.  (2551, กุมภาพันธ์ 25).  หนองหานสกลนครวันนี้.  มติช, หน้า 10.
                                   Brody, J. E. (1995, February 21). Health factor in vegetables still elusive.  
                                                New York Times, p. C1.

วิทยานิพนธ์
                   รูปแบบ: ชื่อผู้แต่ง. (ปี).  ชื่อวิทยานิพนธ์.  วิทยานิพนธ์ ระดับปริญญา สาขาวิชา, สถาบัน.

                                   จิราภรร์ ปุญญวิจิตร. (2547). การศึกษาความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการ
                                                ในโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนระบบนานาชาติระดับชั้นอนุบาลใน
                                                จังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามความต้องการของผู้ปกครอง.  วิทยานิพนธ์
                                                ครุศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา, มหาวิทยาลัยราชภัฏ
                                                พระนครศรีอยุธยา.

อินเทอร์เน็ต
                   รูปแบบ:   ชื่อผู้แต่ง.  (ปี, เดือน วัน).  ชื่อบทความ.  ค้นเมื่อ วัน เดือน ปี  จาก URL

                                   ธนู  บุญญานุวัตร. (2545).  การสืบค้นสารสนเทศทางอินเทอร์เน็ต.  ค้นเมื่อ 
                                            6 ธันวาคม 2551 จาก http://www.aru.ac.th/research.html.
                                   American Psychological Association. (1999, June 1). Electronic preference
                                                formats recommended by the American Psychological Association.
                                                Retrieved July 18, 1999, from http://www.apa.org/journals/ webref.html



การพิมพ์รายงาน
รูปเล่มรายงานที่สวยงามประณีต ชวนอ่านและอ่านง่ายนั้น  จะต้องคำนึงถึงการจัดวางหน้า ระยะขอบพิมพ์  การย่อหน้า  การใช้ตัวอักษร  ซึ่งมีหลักเกณฑ์ให้ถือปฏิบัติดังนี้   
1.         พิมพ์รายงานด้วยเครื่องเลเซอร์  ตัวอักษรที่ใช้พิมพ์ให้ใช้ตัวอักษร Angsana UPC  ขนาด  16 ปอยท์  ใช้กระดาษมาตรฐานขนาด A4 ไม่มีกรอบไม่มีเส้น หมึกพิมพ์สีดํา
2.         จัดระยะขอบกระดาษให้ขอบกระดาษบนและซ้ายห่าง 1.5 นิ้ว ขอบกระดาษล่างและขวาห่าง 1 นิ้ว    การจัดขอบข้อความด้านขวาไม่จำเป็นต้องจัดตรงทุกบรรทัด 
3.          การย่อหน้า ให้ย่อหน้าที่ 1 เว้นระยะจากขอบพิมพ์  7 ระยะตัวอักษรพิมพ์ตรงอักษรตัวที่ 8   ย่อหน้าต่อ ๆ ไป ให้เว้นเข้าไปอีกย่อหน้าละ 3  ตัวอักษร  คือย่อหน้าที่ 2  พิมพ์ตรงอักษรตัวที่ 11  และย่อหน้าที่ 3  พิมพ์ตรงอักษรตัวที่ 14  เป็นต้น 
4.        ชื่อบท ให้พิมพ์กลางหน้ากระดาษ (ได้แก่  คํานํา  สารบัญ  บทที่ 1..   บรรณานุกรม)   ชื่อบทใช้อักษร Angsana UPC  ขนาด  18 ปอยท์    เว้นบรรทัดระหว่างชื่อบทกับข้อความที่เป็นเนื้อหา 1 บรรทัด (คือพิมพ์ชื่อบทแล้วเคาะEnter 2 ครั้ง)
5.         หัวข้อใหญ่ ให้พิมพ์ชิดขอบพิมพ์ด้านขวา และทำตัวหนา-ดำ    ส่วนหัวข้อรองพิมพ์ตรงย่อหน้าที่ 1  (ตรงอักษรตัวที่ 8)  หากมีหัวข้อย่อย ๆ ภายใต้หัวข้อรองให้พิมพ์ตรงย่อหน้าที่ 2, 3…. ตามลำดับ
6. บรรณานุกรมให้จัดพิมพ์เรียงตามลำดับตัวอักษร เรียงบรรณานุกรมภาษาไทยก่อนภาษาอังกฤษ   บรรณานุกรมแต่ละรายการให้พิมพ์ชิดขอบพิมพ์ด้านซ้าย (ไม่ย่อหน้า)  กรณีพิมพ์ไม่จบในบรรทัดเดียว  ให้พิมพ์ต่อตรงย่อหน้าที่ 1  หรืออักษรตัวที่ 8   

สรุป
รายงานเป็นผลจากการแสวงหาความรู้ตามขอบข่ายเนื้อหาสาระในรายวิชาต่างๆ  ที่อาจารย์ผู้สอนมอบหมาย    เพื่อให้นักศึกษามีประสบการณ์ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง พร้อมไปกับการมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระของรายวิชาเหล่านั้น
การทำรายงาoอย่างเป็นขั้นตอน โดยเริ่มจาก  1) กำหนดเรื่อง  2) สำรวจแหล่งข้อมูล เพื่อค้นหาข้อมูลเบื้องต้นมาเป็นแนวทางในการ  3) กำหนดโครงเรื่อง   4) การรวบรวมข้อมูลตามโครงเรื่อง  5) การอ่านวิเคราะห์และสังเคราะห์  แล้วจึงลงมือ 6) เขียนรายงาน  จะช่วยลดความยุ่งยากและช่วยให้การทำรายงานสำเร็จได้โดยง่าย    
รายงานที่ดี  จะพิจารณากันที่  รูปเล่ม  เนื้อหา  การเขียนอธิบายความชัดเจน  เข้าใจง่าย   มีการแสดงหลักฐานอ้างอิงและบรรณานุกรม ที่มาของข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน ถูกต้องตามแบบแผน  
ดังนั้น การประเมินคุณค่าของรายงานจึงพิจารณาที่ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และการสังเคราะห์ความรู้ของผู้ทำรายงาน   รายงานที่ดีจะต้องแสดงเนื้อหาสาระข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง   แสดงความคิดหรือทัศนะของผู้เขียนอย่างมีเหตุผล  และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ต้องเป็นผลงานที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าของนักศึกษาเอง  ซึ่งมิใช่ผลงานที่คัดลอกจากผู้อื่น 

อ้างอิง


วันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2556

สงครามฝิ่น

โดย นางสาวปรียาภรณ์ ภัยมณี

สงครามฝิ่น



สงครามฝิ่น  ฝิ่นเป็นยาเสพติดที่ชาวจีนติดกันอย่างงอมแงมและติดกันมานาน ในรัชกาลจักรพรรดิหยงเจิ้น  เคยมีดำริที่จะทำการปราบปรามฝิ่นแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ชาวจีนส่วนใหญ่ยังติดฝิ่นเรื่อยมา จนถึงรัชสมัยของจักรพรรดิเต้ากวง ปีที่ 19 พระองค์มีเจตนารมณ์อย่างแรงกล้าที่จะทำการปราบฝิ่น ทรงแต่งตั้งหลินเจ๋อสวี เป็นผู้ตรวจราชการสองมณฑล ขึ้นเป็นผู้นำในการกวาดล้างฝิ่นจากแผ่นดินจีน

เริ่มกระบวนการปราบปรามฝิ่น
หลินเจ๋อสวีเริ่มงานด้วยการห้ามค้าฝิ่นในมณฑลกวางตุ้ง และจับพ่อค้าฝิ่นชาวจีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดไปคุมตัวในเรือนจำ ใครที่มีหลักฐานว่าค้าฝิ่นจะต้องถูกประหาร และตัดศีรษะเสียบประจาน เพื่อข่มขู่ชาวจีนอื่น ๆ ให้เกรงกลัวจะได้ไม่กล้าค้าฝิ่นอีก นอกจากปราบปรามการค้าฝิ่นในหมู่ชาวจีน หลินเจ๋อสวี ยังได้พยายามฟื้นฟูสุขภาพชาวจีนที่ติดฝิ่น โดยจัดโครงการรณรงค์การอดฝิ่น มีชาวจีนหลายคนที่อดฝิ่นได้สำเร็จ ทางการก็จะประกาศเกียรติคุณ เพื่อให้คนอื่น ๆ เอาเป็นแบบอย่างอันดีที่จะพยายามเลิกฝิ่นให้ได้ จากนั้นหลินเจ๋อสวีก็สั่งห้ามเรือพ่อค้าต่างชาติที่บรรทุกฝิ่นเข้ามาในอาณาจักรจีน โดยห้ามเรือล่องเข้าแม่น้ำจูเจียงมาเป็นเด็ดขาด และประกาศให้พ่อค้าต่างชาติที่มีฝิ่นในครอบครอง ต้องนำฝิ่นมาส่งมอบให้ทางการจีน แต่พ่อค้าชาวต่างชาติไม่สนใจคำสั่งของหลินเจ๋อสวี ยังคงค้าฝิ่นต่อไป หลินเจ๋อสวีจึงสั่งปิดล้อมย่านการค้าของคนต่างชาติใน และบีบให้พ่อค้าต่างชาติส่งฝิ่นให้ทางการจีน


การปะทะที่กว่างโจวระหว่างสงครามฝิ่นครั้งที่สอง

หลังจากปิดล้อมอยู่สองวัน พวกพ่อค้าต่างชาติก็ยอมมอบฝิ่นออกมาในที่สุด ฝิ่นที่ยึดได้ครั้งนี้ หลินสั่งให้เอาฝิ่นทั้งหมดไปละลายกับกรดน้ำส้มกับเกลือและน้ำ เพื่อฆ่าฤทธิ์ของฝิ่น แล้วก็โยนทิ้งทะเลไปจนหมดสิ้น ผลจากการปราบปรามฝิ่นอย่างจริงจังของหลินเจ๋อสวี ทำให้ชาวต่างชาติโดยเฉพาะพ่อค้าอังกฤษที่มีผลประโยชน์จากการค้าฝิ่นมหาศาลไม่พอใจอย่างยิ่ง เพราะฝิ่นที่หลินเจ๋อสวีทำลายไปมีจำนวนมหาศาลถึง 20,000 ลัง คิดเป็นน้ำหนักสองล้านปอนด์ครึ่ง และเนื่องจากฝิ่นเป็นสินค้าที่มีค่าสูง จึงยังมีพ่อค้าต่างชาติทั้งชาวอังกฤษและโปรตุเกส ยังคงลอบค้าฝิ่น แต่เปลี่ยนฐานการค้าจากตัวแผ่นดินใหญ่ในมณฑลกวางตุ้ง ไปอยู่ที่มาเก๊า และเกาะฮ่องกง ซึ่งมีทำเลดีกว่าแทน



สงครามปะทุ
การกระทบกระทั่งระหว่างจีนกับอังกฤษยังคงมีต่อมา เมื่อชาวจีนถูกกะลาสีเรือชาวอังกฤษฆ่าตายที่เกาลูน หลินเจ๋อสวีให้ทางอังกฤษส่งตัวกะลาสีที่ก่อเหตุมารับโทษตามกฎหมายจีน แต่กัปตันเอลเลียตของอังกฤษปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ผลจากการกระทบกระทั่งกันครั้งนี้ ทำให้หลินเจ๋อสวีขับไล่ชาวอังกฤษทั้งหมดออกจากมาเก๊า แต่พ่อค้าเหล่านี้ก็ไปตั้งหลักที่ฮ่องกงแทน กัปตันเอลเลียต ขอความช่วยเหลือไปทางรัฐบาลอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษในยุคของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นยุคสมัยของการล่าอาณานิคม ถือเป็นเหตุในการทำสงครามกับจีน
การผลิตฝิ่นในอินเดีย

โดยเริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2382(ค.ศ. 1839) โดยสั่งให้บริษัทอีสต์อินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทการค้าของรัฐบาลอังกฤษ ส่งกองเรือไปช่วยที่ฮ่องกง เมื่อกองเรือรบกองแรกมาถึงซึ่งประกอบไปด้วยเรือปืนจำนวน 28 ลำ หลินเจ๋อสวีไม่เคยมีประสบการณ์กับการรบกับอาวุธที่ทันสมัยเช่นนี้ จึงถูกโจมตีจนกองเรือจีนพ่ายแพ้อย่างรวดเร็ว หนำซ้ำพวกขุนพลของจีนที่สู้แพ้อังกฤษ ยังไม่กล้ารายงานสถานการณ์ตามความเป็นจริง ทำให้หลินเจ๋อสวีเข้าใจผิดว่ากองเรือของจีนเอาชนะกองเรืออังกฤษได้ จึงถวายรายงานกับพระจักรพรรดิเต้ากวงว่า จีนได้รับชัยชนะ และยิ่งแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อพวกอังกฤษยิ่งขึ้น
ในที่สุด ในปี พ.ศ. 2383 (ค.ศ. 1840) ฝ่ายกองเรือรบอังกฤษก็บุกเข้าปากแม่น้ำจูเจียง และยึดเมืองกวางซูเอาไว้ได้อย่างง่ายดาย พร้อมทั้งเคลื่อนกองเรือรุกเข้ามาในแผ่นดินจีนขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังส่งกองเรือจำนวนหนึ่งไปยึดเมืองท่าริมทะเลเอาไว้ด้วย ความทราบถึงพระจักรพรรดิเต้ากวง จึงทรงตำหนิหลินเจ๋อสวีอย่างรุนแรง และปลดหลินเจ๋อสวีจากตำแหน่งทั้งหมด เนรเทศไปยังซินเจียง และส่งแม่ทัพฉีซานมาแทน ฉีซานไม่สามารถต้านทานแสนยานุภาพของอังกฤษได้

ผลลัพธ์
ในปี พ.ศ. 2385 (ค.ศ. 1842) กองทัพอังกฤษบุกเข้ายึดเมืองนานกิงได้ จนกระทั่งในที่สุดจำเป็นต้องเจรจาสงบศึกกับอังกฤษ ที่เมืองนานกิงนั่นเอง และยอมเซ็นสนธิสัญญาที่ชาวจีนถือว่าอัปยศที่สุด ที่เรียกว่าสนธิสัญญานานกิงในปีเดียวกันนั้น เนื้อหาในสนธิสัญญาฉบับนี้ อังกฤษบังคับให้จีนเปิดเมืองท่าตามชายทะเลเพื่อค้าขายกับอังกฤษ รวมทั้งขอสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือดินแดนจีน คนที่ถือสัญชาติอังกฤษ จะไม่ต้องขึ้นศาลจีน รวมทั้งสิทธิใด ๆ ที่อังกฤษได้ ต่างชาติอื่น ๆ ก็ต้องได้ด้วย แม้ว่าเนื้อหาของสนธิสัญญานี้ จีนต้องเสียเปรียบอังกฤษเป็นอย่างมาก แต่จีนก็จำต้องเซ็นสัญญาเพื่อยุติสงครามที่จีนเสียเปรียบอย่างเทียบไม่ติด
ต่อมาจีนก็สูญเสียเอกราชบนคาบสมุทร เกาลูนไปอีก ในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2403 (ค.ศ. 1860) ตามสนธิสัญญาปักกิ่ง ในรัชกาลสมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง (咸丰) ปีที่ 10 และอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2441 (ค.ศ. 1898) ตรงกับรัชกาลจักรพรรดิกวังซวี่ (光緒帝) ปีที่ 24 สูญเสียพื้นที่เขตดินแดนใหม่ (New Territories) ให้กับสหราชอาณาจักรในสัญญาเช่า 99 ปี นับแต่นั้น เซินเจิ้นและฮ่องกงก็ถูกแบ่งแยกการปกครองออกจากกัน และภายใน พ.ศ. 2443 (ค.ศ. 1900) คนจีนกว่า 13 ล้านคน ยังคงติดฝิ่นอยู่ เศรษฐกิจของจีนถูกทำลายลงอย่างย่อยยับจากการที่จีนต้องนำเข้าฝิ่นเป็นจำนวนมากมายมหาศาลและราชวงศ์ชิงก็ตกอยู่ในภาวะแห่งการล่มสลาย

อ้างอิง
http://th.wikipedia.org/wiki.com

วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

ขบวนการชาตินิยมในเอเชีย

โดย นางสาวปรียาภรณ์ ภัยมณี


ขบวนการชาตินิยมในเอเชีย

   การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในดินแดนเอเชียคือ เมื่อประเทศเจ้าอาณานิคมได้ส่งเสริมให้จัดการศึกษาในประเทศที่ตนได้ปกครอง เช่น อังกฤษ ได้ปรับปรุงการศึกษา ทำให้นักศึกษาได้รับการศึกษาดีขึ้น ซึ่งเป็นชนชั้นกลางในสังคมและจะเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในวงการเมืองต่อไปในภายหน้า ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีเป้าหมายเพื่อการปกครองตัวเองรวมไปถึงความเป็นเอกราชของชาติ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดขบวนการชาตินิยมต่างๆในเอเชียขึ้น

สาเหตุของขบวนการชาตินิยม

.1.ความรู้สึกและความสำนึกรักชาติโดยได้รับอิทธิพลและแรงจูงใจจากการศึกษาตะวันตกที่ประเทศเจ้าอาณานิคมได้ส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาทำให้นักศึกษาและผู้รักชาติได้รับอิทธิพลและแนวคิดชาตินิยมจากประเทศเหล่านี้
            2.การได้รับอิทธิพลทางการปฏิวัติในยุโรปที่มีการปฏิวัติมาก่อนหน้าเอเชีย หรือการที่เอเชีย เช่น ญี่ปุ่นสามารถต่อสู้กับยุโรปได้ กรณีญี่ปุ่นรบชนะรัสเซียใน พ.ศ. 2447ทำให้เกิดความคิดของการเป็นแบบในการสร้างสำนึกชาตินิยมในเอเชีย

1.ขบวนการชาตินิยมที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออก 
คือ จีน ดร.ซุน ยัตเซ็น ได้ก่อตั้งสมาคมกู้ชาติเพื่อช่วยเหลือความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น อาทิ ปรับปรุงการศึกษาการเกษตร และอุตสาหกรรม ซึ่งพิจารณาโดยรวม แนวคิดของเขาได้รับอิทธิพลจากภายในและภายนอกประเทศชื่อว่า หลักประชาชนซึ่งแพร่หลายใน พ.ศ. 2467  มีหลักว่าชาตินิยมประชาธิปไตย และสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของประชาชนหากจะกล่าวถึงขบวนการชาตินิยม ซึ่งมีส่วนสำคัญในการปฏิวัติของจีน แต่ก็เป็นไปในลักษณะ ของการต่อต้านราชวงศ์แมนจู

ซึ่งเป็นชนต่างชาติอยู่แต่เดิมครั้นเมื่อราชวงศ์แมนจูพ้นออกไปจากเมืองจีนแล้วลัทธิชาตินิยมก็มิได้มีบทบาทสำคัญในเรื่องการเมืองเท่าใดนักภายในพ.ศ. 2414 กลุ่มซามูไรและปัญญาชนได้ทำการเคลื่อนไหวเรียกร้องอำนาจจากโชกุนคืนมาให้จักรพรรดิอันเนื่องด้วยเวลานั้นจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจในประเทศ รวมทั้งภัยคุกคามจากภายนอกประเทศของมหาอำนาจอำนาจตะวันตกต่างๆ เป็นโอกาสให้รวบรวมพวกคนเหล่านี้ในฐานะนักชาตินิยมขบวนการชาตินิยมเกิดความหวั่นเกรมต่อภัยคุกคามของต่างชาติ  ทำให้ผู้นำขบวนการปฏิวัติเทิดทูนจักรพรรดิเป็นผู้นำเพื่อขจัดภัยต่างชาติและเพื่อปฏิรูปสังคและการเศรษฐกิจ สังคมเพื่อรองรับและเป็นเหตุผลข้อหนึ่งในการนำไปสู่การเปิดประเทศในสมัยต่อมรวมทั้งการที่ญี่ปุ่นได้ถูกบังคับให้ต้องเซ็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมญี่ปุ่นก็ได้พยายามเรียกร้องกับนานาประเทศที่เคยทำสัญญาให้ญี่ปุ่นต้องเสียเปรียบซึ่งจากความพยายามและเรียกร้องของญี่ปุ่นอังกฤษจึงเป็นประเทศที่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงรวมทั้งสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆจนใน พ.ศ. 2454 จึงแก้สัญญาต่างๆ ได้หมด และญี่ปุ่นก็ได้เสรีภาพเต็มที่ทั้งการศาลและการภาษีอากร

2.ขบวนการชาตินิยมที่เกิดขึ้นในเอเชียใต้ คือ
อินเดีย ญี่ปุ่นชนะสงครามรัสเซียในปี พ.ศ. 2448 มีผลทำให้เกิดการตื่นตัวในลัทธิชาตินิยมในอินเดีย ผลของสงครามนั้นทำให้เห็นว่าชาติตะวันออกสามารถชนะชนชาติตะวันตกได้ ชาวอินเดียได้เรียกร้องต่างๆ ของชาวอินเดียใช้ขบวนการชาตินิยมเพื่อเป็นเอกราช เพื่อการปกครองตนเองจนกลายเป็นความวุ่นวายจนถึงขนาดอังกฤษต้องออกฎหมายควบคุมการจลาจลทั้งหลายในปีพ.ศ. 2451กลางพุทธศตวรรษที่ 25 ชาวอินเดียได้มีความรู้สึกเข้าใจชาติของตนการที่เยาวชนได้รับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยต่างๆ

ที่เจ้าอาณานิคมอังกฤษได้จัดตั้งสถาบันการศึกษาขึ้นที่บอมเบย์และกัลป์กัลป์ตาเยาวชนอินเดียได้เรียนรู้ระบบวัฒนธรรมทางตะวันตกเรียนรู้การปฏิวัติของฝรั่งเศส และการสงครามประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ ความคิดของคนรุ่นใหม่จึงเปิดกว้างต่อแนวคิดก้าวหน้า สิทธิเสรีภาพอิสรภาพ ซึ่งส่งผลต่อชาวอินเดียในด้านการคำนึงถึงเอกราชและการสร้างชาติของตนให้เจริญรุ่งเรือง แล้วขบวนการชาตินิยมก็เกิดขึ้นในอินเดียรวมทั้งการก่อตั้งสมาคมต่างๆเพื่อการปฏิรูปศาสนาวัฒนธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมเช่นสมาคมพราหมสมาชที่มีเป้าหมายเพื่อการฟื้นฟศาสนาฮินดุ สมาคมอารยสมาชที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านอารยธรรมตะวันตก เป็นต้น รวมไปถึงการก่อตั้งพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย ที่เป็นองค์กรทางการเมืองที่ต่อสู้เรียกร้องให้ชาวอินเดียเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองอินเดียและสุดท้ายก็เรียกร้องเอกราช

จากเหตุผลดังกล่าวในช่วงพุทธศตวรรษที่ 25 ลัทธิชาตินิยมได้เกิดขึ้นในอินเดียอย่างรวดเร็วและพร้อมกันนั้นการเรียกร้องเพื่อปกครองตนเองก็ไทวียิ่งขึ้นแม้ชาวอังกฤษจะคิดว่าการปกครองของตนได้นำพรอันประเสริฐหลายอย่างของอารยธรรมตะวันตก มาสร้างสรรค์ให้แกประเทศอินเดียก็ตามแต่อินเดียก็ไม่ยอมลงความเห็นด้วย ลัทธิชาตินิยมได้รับการหล่อเลี้ยงให้เจริญเติบโตขึ้นโดยพรรคคองเกรสซึ่งเป็นพรรคการเมืองชาตินิยม ทางศาสนาแล้วส่วนมากเป็นฮินดู ซึ่งต่อมาได้มีอำนาจปกครองอินเดีย อาทิ มหาตมะ คานธี นักชาตินิยมที่นำอินเดียต่อสู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษด้วยวิธีการสันติที่เรียกว่า"อหิงสา"จนได้รับเอกราชคืนมาและเยาวหราล เนห์รู นักกฎหมายที่มีแนวทางชาตินิยม ซึ่งภายหลังได้เป็นนายกรัฐมนตรีของอินเดียหลังได้รับเอกราชใน พ.ศ. 2490

การได้เอกราชของอินเดียจากอังกฤษก็ได้ทำให้เกิดการแยกประเทศ ระหว่างคนอินเดียที่นับถือฮินถือฮินดูและอิสลามซึ่งนำโดยนักชาตินิยมอย่างอาลี จินนาห์ ผู้นับถกือมุสลิมและเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมหากรรมอยู่กับอินเดียที่ปกครองส่วนใหญ่เป็นฮินดู จึงแยกไปเป็นปากีสถานในพ.ศ. 2490 และเป็นบังกลาเทศใน พ.ศ. 2514

ขบวนการชาตินิยมและการต่อสู้เพื่อเอกราช

ขบวนการชาตินิยมของอินเดียเริ่มเติบโตตั้งแต่ปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งองค์กรชาตินิยมที่มีบทบาทในฐานะปากเสียงของประชาชน ได้แก่ คองเกรสแห่งชาติอินเดีย (Indian National Congress) ซึ่งเปิดประชุมครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๘๘๕ ที่บอมเบย์ซึ่งเริ่มแรกมีผู้เข้าประชุมเพียง ๗๐ คนจากนั้นก็มีการประชุมทุกๆปีและมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าองค์กรนี้จะตั้งโดยชาวฮินดูผู้มีการศึกษาและชาวอังกฤษผู้มีเป็นธรรมอีกทั้งยังมีชาวมุสลิมที่สนใจเข้าร่วมด้วย จุดประสงค์ของคองเกรสในตอนแรกคือยืนยันที่จะ ตอบคำถามที่ว่าอินเดียยังไม่เหมาะที่จะมีสถานบันผู้แทนไม่ว่ารูปแบบใดๆทั้งสิ้นแต่ก็ดูเหมือนจะเลื่อนลอยในการที่จะให้มีการปกครองแบบสภา เพราะสมาชิกคองเกรสส่วนใหญ่ยังจงรักภักดีต่ออังกฤษ

ในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ ๒๐ มีนักเคลื่อนไหวชาตินิยมรุ่นแรกเช่น ดาดาภัย เนาโรจิ นักธุรกิจชาวอินเดียที่อยู่ในลอนดอนเป็นเวลานาน จนได้รับเลือกเข้าไปนั่งในสภาสามัญของอังกฤษในนามพรรคเสรีนิยม เขาได้รับแต่งตั้งให้เข้าไปตรวจสอบการบริหารการคลังของอังกฤษในอินเดีย นักชาตินิยมคนต่อมาคือ เอ็ม จี รานาด เนื่องจากเขาเป็นผู้พิพากษาจึงไม่ได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเขามีความเห็นว่าอินเดียต้องนำระบบอุตสาหกรรมมาใช้ภายใต้การช่วยเหลือของอังกฤษ ลูกศิษย์ของเขาก็มีส่วนในการทำให้อังกฤษต้องลดภาษีและปรับปรุงการคลังให้ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามบุคคลเหล่านี้จัดว่าเป็นสายกลาง (moderates) เห็นได้จากการที่พวกเขายอมรับการปกครองของอังกฤษและพยายามให้อังกฤษปรับปรุงสิ่งที่พวกตนเรียกร้องให้ดีขึ้น

หลังจาก ค.ศ. ๑๙๐๐ เป็นต้นมา คองเกรสแห่งชาติอินเดียก็แยกเป็น ๒ ฝ่าย คือฝ่ายสายกลาง กับฝ่ายรุนแรง ฝ่ายหัวรุนแรงนำโดย บัล กันกาธาร์ ติลัก ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องอย่างละมุนละม่อมของพวกสายกลาง ฝ่ายนี้ต้องการให้การให้เกิดความปั่นป่วนแก่อังกฤษ รวมทั้งใช้กำลังและก่อการร้ายหากจำเป็น ติลักมาจากวรรณะพราหมณ์แห่งเมืองปูนา เขาเป็นนักปฏิรูปที่นิยมการต่อสู้ ต้องการฟื้นฟูศาสนาฮินดูและประเพณีกลับคืนมาเพื่อเรียกร้องการสนับสนุนจากมวลชน ทำให้ขบวนการชาตินิยมกระจายไปสู่ประชาชนส่วนใหญ่ เขายังได้ต่อสู้เพื่อให้กรรมกรได้ค่าแรงขั้นต่ำ เรียกร้องเสรีภาพขององค์การสหภาพการค้า การตั้งกองทัพประชาชน การให้การศึกษาแก่ประชาชนโดยไม่เก็บเงิน ติลักมีความคิดเหมือนคานธีในแง่ที่ว่าประชาชนอินเดียไม่ควรให้ความร่วมมือกับอังกฤษ แต่ต่างกันตรงที่ติลักต้องการใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอังกฤษ การกระทำของติลักทำให้ขบวนการชาตินิยมได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปมากยิ่งขึ้น เขาถูกจำคุกในปี ๑๙๐๘-๑๙๑๔

ส่วนผู้นำสายชาตินิยมสายกลางได้แก่ โคปาลา กฤษณา โกเคล ท่านผู้นี้คานธีนับถือเป็นครูของเขา เพราะโกเคลมีความสนใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสวัสดิการสังคม ซึ่งมีอิทธิพลต่อคองเกรสและกำหนดทิศทางให้อินเดียเป็นรัฐสวัสดิการภายหลังได้รับเอกราช

แบ่งแยกเพื่อเข้าปกครอง

ในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ ๒๐ ขบวนการชาตินิยมนำโดยติลักได้ขยายตัวจากภาคตะวันตกไปยังแคว้นเบงกอลทางตะวันออก ซึ่งการขยายตัวอย่างรวดเร็วมีส่วนหนึ่งมาจากปฏิวัติในรัสเซียในปี ๑๙๐๕ และในปีนั้นญี่ปุ่นก็ทำสงครามชนะกองทัพเรือของรัสเซีย ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่าชาวเอเชียไม่ได้ด้อยกว่าชาวตะวันตก ซึ่งในปีนั้นเช่นกันอุปราชอังกฤษประจำอินเดียได้ออกกฎหมายแบ่งแคว้นเบงกอลออกเป็น ๒ ส่วนซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวเบงกาลี(ชาวเบงกอล) เป็นอย่างมาก การแบ่งเบงกอลออกเป็นสองส่วนทำให้ฟากตะวันออกมีคนมุสลิมส่วนใหญ่มีคนฮินดูเป็นส่วนน้อย และฟากตะวันตกก็กลับกันคือมีคนฮินดูเป็นส่วนมากมีคนมุสลิมเป็นคนส่วนน้อย

ขบวนการชาตินิยมกล่าวว่าอังกฤษต้องการแบ่งเบงกอลออกเป็นสองส่วน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย Divide and rule (แบ่งแยกเพื่อปกครอง) คือทำให้ชาวเบงกอลแตกสามัคคีกัน เพื่อลดอิทธิพลของขบวนการชาตินิยมและปราบปรามการฟื้นฟูทางสติปัญญาซึ่งเริ่มตื่นตัวขึ้นมากในเบงกอลตั้งแต่ คริสตศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา

การแบ่งแยกเบงกอลเป็นสองส่วนทำให้ขบวนการชาตินิยมรวมเป็นอันหนึ่งเดียวกันทั่วประเทศอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน กลุ่มนี้ได้ต่อสู้กับรัฐบาลอย่างเข้มแข็งภายใต้คำขวัญ สวราชซึ่งหมายถึงการปกครองตนเองภายใต้จักรวรรดิอังกฤษความรู้สึกชาตินิยมอย่างรุนแรงจากปัญหาการแบ่งแยกเบงกอล ทำให้กลุ่มหัวรุนแรงมีอิทธิพลในการประชุมคองเกรสแห่งชาติอินเดียในปี ค.ศ. ๑๙๐๖

นักชาตินิยมหัวรุนแรงบางคนได้ใช้การต่อสู้อย่างรุนแรงตามแบบการก่อการร้ายใต้ดินไอร์แลนด์และในรุสเซีย การก่อการร้ายมีความรุนแรงมากขึ้นในช่วง ๑๙๐๖-๑๙๐๙ ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องแก้ไขโดยออก พ.ร.บ.การปฏิรูปมอร์เลย์-มินโต ในปี ๑๙๐๙ และในปี ๑๙๑๑ อังกฤษก็ยกเลิกการแบ่งแยกเบงกอล ทำให้ชาวอินเดียเห็นว่าการใช้ความรุนแรงสามารถบีบบังคับให้รัฐบาลยอมจำนนได้ แต่การปฏิรูปดังกล่าวอังกฤษไม่ได้ทำเพื่อให้อินเดียมีการปกครองตนเอง แต่เป็นอุบายหนึ่งที่จะทำให้ขบวนการหัวรุนแรงแตกแยกกัน โดยที่อังกฤษยอมอนุญาตให้อินเดียมีการเลือกตั้งผู้แทนในขอบเขตจำกัด แต่อำนาจเด็ดขาดและการตัดสินใจขั้นสุดท้ายอยู่ที่อังกฤษ

วิธีการดังกล่าวได้รับความสำเร็จ เพราะทำให้นักชาตินิยมสายกลางกลับมามีอำนาจในคองเกรสอีกครั้งหนึ่ง มีมติ แสดงความพอใจโดยทั่วไปและอย่างลึกซึ้งต่อการปฏิรูปดังกล่าวการต่อต้านอังกฤษยังลดความรุนแรงลงอีกใน ค.ศ. ๑๙๑๑ เมื่ออังกฤษยกเลิกการแบ่งแยกแคว้นเบงกอล ปล่อยนักโทษการเมืองที่สำคัญๆ และให้เงินจำนวนหนึ่งเพื่อพัฒนาการศึกษาของอินเดีย
สรุปว่าตั้งแต่ปลายคริสตศตวรรษที่ ๑๙ มาถึง ค.ศ. ๑๙๑๔ ขบวนการชาตินิยมของอินเดียประกอบด้วยปัญญาชนเป็นส่วนใหญ่ และคองเกรสแห่งชาติอินเดียได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ในระยะเวลา ๒๕ ปี ตั้งแต่ตั้งคองเกรสในปี ค.ศ. ๑๘๘๕ สมาชิกคองเกรสแห่งชาตินอกจากจะมาจากแคว้นเบงกอลและเมืองทางชายฝั่งตะวันตกแล้ว ยังมาจากส่วนต่างๆของบริติชอินเดียอีกด้วย สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือขบวนการนี้เป็นขบวนการของชนชั้นกลาง ซึ่งประกอบด้วยนักกฎหมาย นักหนังสือพิมพ์ ครู อาจารย์ และพ่อค้า คนเหล่านี้คุ้นเคยกับแนวความคิดของนักปราชญชาวตะวันตก เช่น จอห์น สจ๊วต มิล เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ และชาร์ลส์ ดาร์วิน ซึ่งเป็นนักปรัชญาเสรีนิยมที่มีอิทธิพลในคริสตศตวรรษที่ ๑๙ แต่มักไม่เข้าใจปัญหาและความต้องการของชาวอินเดียส่วนใหญ่ในชนบทซึ่งได้แก่ ความยากจนและความอัตคัดขัดสน จึงเกิดช่องว่างอย่างมากระหว่างคนสองกลุ่มดังกล่าว จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เมื่อมหาตมะ คานธีสามารถทำให้ขบวนการชาตินิยมเป็นขบวนการของมวลชนอย่างแท้จริง

สันนิบาตมุสลิม


ลักษณะอีกประการหนึ่งของขบวนการชาตินิยมในระยะแรก คือ การที่ชาวฮินดูเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในคองเกรสแห่งชาติอินเดีย ทำให้ชาวมุสลิมส่วนมากไม่มีส่วนร่วมด้วย มุสลิมภายใต้การนำของเซอร์ เซยิด อาเหม็ด ข่าน จึงมีความรู้สึกว่าหากคองเกรสแห่งชาติสามารถเรียกร้องการปกครองแบบมีผู้แทนได้สำเร็จ พวกมุสลิมก็จะกลายเป็นชนกลุ่มน้อยที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอดไป ชาวมุสลิมยังรู้สึกตื่นตระหนกในพลังอันเข้มแข็งของลัทธิชาตินิยมฮินดูมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้รักชาติชาวฮินดูบางคนกล่าวถึงมุสลิมว่าเป็น ชาวต่างชาติชาวมุสลิมจึงได้จัดตั้ง สันนิบาตมุสลิม (Moslem League) เพื่อป้องกันตนเองจากความระแวงสงสัยดังกล่าว ทางฝ่ายอังกฤษเองก็พร้อมที่จะต้อนรับและสนับสนุนสันนิบาตมุสลิม เพื่อถ่วงดุลกับคองเกรสแห่งชาติอินเดีย

อย่างไรก็ตามการก่อตั้งสันนิบาตมุสลิมก็ไม่ได้เกิดจากการวางแผนของอังกฤษ แต่เป็นผลจากการดำเนินกลยุทธ์ที่ผิดพลาดของผู้นำชาตินิยมฮินดูอย่างเช่น ติลัก ซึ่งเน้นการฟื้นฟูศาสนาฮินดูเพื่อกระตุ้นความรักชาติของประชาชน ซึ่งกลับทำให้มุสลิมถูกกีดกันออกไป มุสลิมจึงเกิดความหวาดระแวงว่าตนจะต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของชาวฮินดูในอนาคต