วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ผ้าจกไท-ยวน บ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี

โดย ปรียาภรณ์ ภัยมณี


ผ้าจกไท-ยวน  บ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี



ประวัติความเป็นมา
       การทอผ้าและการแต่งกายเป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของกลุ่มชน บรรพชนชาวยวนซึ่งเดินทางเข้ามาตั้งหลักแหล่งในราชบุรีตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ได้นำเอาเอกลักษณ์งานทอของตนติดตัวมาด้วยและได้สืบทอดต่อมายังรุ่นลูกรุ่นหลังจนถึงทุกวันนี้
       ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ด้วยความช่วยเหลือของหลายฝ่าย และด้วยความสวยงามโดดเด่นในตัวมันเอง เรื่องราวของผ้าตีนจกของคนยวนราชบุรีได้แพร่สู่การรับรู้ของคนทั่วไปค่อนข้างมาก จนหลายคนเผลอคิดไปว่า มีแต่ผ้าตีนจกเท่านั้นที่คนยวนทำเป็น ทั้งที่ความเป็นจริงชาวยวนมีผ้าทออีกหลากหลายชนิดที่อยู่ในวิถีชีวิต
       สัญลักษณ์หนึ่งนอกเหนือจากภาษาพูดของคนยวนในราชบุรีก็คือ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายต่างๆที่ถักทอขึ้นมาจากน้ำมือแม่หญิงทั้งหลาย แต่กระนั้นในปัจจุบันคงเห็นได้เด่นชัดเพียงบางหมู่บ้านเท่านั้น เช่น บ้านหนองมะตูม บ้านหนองโป่ง บ้านบ่อปะแก้ว บ้านดอนสาด บ้านดอนรวก และหมู่บ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง
       ผู้หญิงยวนจากหมู่บ้านที่มานิยมนุ่งซิ่นยวนแบบต่างๆ ไปทำบุญที่วัด ซิ่นที่พวกเธอนุ่งเป็นลักษณะเดี่ยวกับที่เราพบทางภาคเหนือ แม้จะต่างไปบ้างในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ มีด้วยกันสี่แบบคือ หนึ่ง ซิ่นตา มีตัวเป็นสีแดง ตีนสีดำ ยกดอกเป็นตาๆ หรือลายประ สลับด้วยลายขวางเส้นเล็กๆ สีแดง เขียว ดำ น้ำเงิน แซมอยู่ช่วงตัวและตีนซิ่น สมัยก่อนสาวๆ จะชอบนุ่งซิ่นแบบนี้เพราะมีลวดลายสวยงาม สอง ซิ่นเลื่อน พื้นเป็นสีดำ มีลายขวางสีแดงตรงส่วนต่อระหว่างตัวกับตีนและที่ปลายตีนซิ่นเป็นซิ่นที่ใช้นุ่งเป็นปกติประจำวันและนุ่งไปงานศพ สาม ซิ่นซิ่ว มีตัวเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนตีนมีสีดำ มีลายขวางสีแดงที่แซมด้วยลายประตรงส่วนต่อระหว่างตัวกับตีนและที่ปลายตีนซิ่น และ สี่ ซิ่นตีนจก ซึ่งบางคนยกย่องว่าเป็นสุดยอดของผ้าซิ่น เพราะมีลวดลายที่ละเอียดงดงาม
     ข้อมูล เรื่องราวของผลิตภัณฑ์ (Product Story)
  ผ้าจกเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของไท-ยวนที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน เป็นผ้าที่ใช้แปรรูปเป็นเครื่องแต่งกายของชาวไท-ยวน เช่น ผ้าซิ่นตีนจก,ผ้าขาวม้าจก,ย่ามจก,กระเป๋าคาดเอวจก ฯลฯ ที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของไท-ยวน ต่อมาชาวไท-ยวน ได้เคลื่อนย้ายถิ่นฐานจากเมืองเชียงแสนในปี พ.ศ.2347 มาตั้งหลักแหล่งที่ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เมื่อได้ปลูกบ้านเรือนอาศัยสมบูรณ์แล้วก็ได้ทอผ้าด้วยวิธีจกเพื่อนำไปแปรรูปเป็นเครื่องแต่งกายดังกล่าว แสดงเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของเผ่าพันธุ์ให้เป็นที่ประจักษ์ ปัจจุบันผ้าจกเป็นผลผลิตทางภูมิปัญญาการทอของชาวไท-ยวน อย่างแพร่หลายในจังหวัด
ราชบุรี และเป็นที่นิยมของผู้รักผ้าไทยโดยทั่วไป

     จากการศึกษาของ ดร.อุดม สมพร (บุคคลดีเด่นของชาติ ประจำปี 2541 สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิคนไทย ด้าน อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น) 

         อาจารย์ผู้สนใจศิลปะผ้าจกของราชบุรี พบว่า ผ้าจกของราชบุรีมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองกล่าวคือ มีพื้นเป็นสีดำ จกด้วยสีแดง แซมด้วยสีเหลืองเป็นหลัก เน้นลาย "นกคู่กินน้ำร่วมเต้า" ให้เป็นเด่นชัด ส่วนในรายละเอียดผ้าจกของคูบัวกับทางดอนแร่ก็มีความแตกต่างกันบ้างในเรื่องการเน้นลวดลายและการให้สี แต่ที่สังเกตได้ง่ายคือขนาดความกว้างของตีนจกทางคูบัวจะแคบกว่าทางดอนแร่
          ผ้าจกนั้นถือกันว่ามีคุณค่ามากด้วยจกเป็นวิธีการทอที่ต้อง-ใช้ความสามารถและความอุตสาหะสูง ชาวบ้านจึงใช้นุ่งในโอกาสพิเศษเท่านั้น เท่าที่เราสังเกตชาวบ้านที่นุ่งซิ่นมาทำบุญที่วัดทุ่งหญ้าคมบาง ซึ่งเป็นวัดศูนย์กลางของคนตำบลดอนแร่ ก็พบว่า มีน้อยคนที่จะนุ่งผ้าซิ่นตีนจก ทั้งนี้คงเป็นเพราะเดี๋ยวนี้คนทอจกเป็นมีไม่กี่คน ส่วนที่มีให้ซื้อหาก็แพงเกินฐานะ ทุกวันนี้ผ้าตีนจก จึงอยู่ในมือของผู้มีอันจะกินในเมืองเสียมากกว่า
เอกลักษณ์/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์
ผ้าจกมีจุดเด่นที่มีสีสันสลับสอดสีพื้นดำจกด้วยสีแดง แซมด้วยสีเหลืองเขียวเส้นใยละเอียดเนื้อแน่น ลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่นคูบัว และแสดงถึงศิลปะของความเป็นไทยท้องถิ่นได้อย่างเด่นชัดเหมาะสมสำหรับนำไปแปรรูปเป็นผ้าซิ่น เสื้อทั้งชาย-หญิง ฯลฯ
    มาตรฐานรางวัลที่ได้รับ
OTOP 5 ดาว (โดยมี ดร. อุดม   สมพร เป็นประธานสหกรณ์การเกษตร ไท-ยวน ราชบุรี จำกัด)

 วัตถุดิบและส่วนประกอบ

1. กี่ทอผ้า    2. เส้นฝ้าย หรือไหม 
3. ขนเม้น     4. กระสวย



    กระบวนการขั้นตอนการผลิต
การทอผ้าจกในอดีต : ชาวไท-ยวนจะปลูกฝ้ายเพื่อปั่นเป็นเส้นด้ายใช้ทอผ้าจกและใช้หูกทอผ้าแบบโบราณ ที่พุ่งกระสวยด้วยมือ การย้อมสีเส้นด้ายก็ใช้วิธีการย้อมด้วยสีธรรมชาติ ทอจกเป็นผืนตา วัตถุประสงค์การใช้นุ่งห่มมิได้มุ่งเน้นเพื่อการจำหน่าย การทอผ้าในปัจจุบัน : ลูกหลานไท-ยวน ส่วนมากในปัจจุบันจะเริ่มทอผ้าจกด้วยการสั่งซื้อวัสดุเส้นใยจากโรงงานทำเส้นใยในกรุงเทพฯ หรือตัวแทนจำหน่าย ฉะนั้นส่วนมากจะเป็นเส้นใยประสมหรือเส้นใยสังเคราะห์ย้อมด้วยสีเคมี เมื่อได้เส้นใยดังกล่าวก็จะนำมาขึ้นม้วนกี่กระตุกซึ่งเป็นกี่ที่ได้รับอิทธิพลมาจากภูมิปัญญาของคนจีน เป็นกี่หน้ากว้างทอได้รวดเร็วกว่าหูกโบราณ การขึ้นม้วน      (การเตรียมเส้นยืน) จะจ้างผู้มีอาชีพรับจ้างขึ้นม้วนเป็นส่วนมากแต่จะมีบางคนที่ขึ้นม้วนด้วยตนเองแต่ไม่มากนัก เมื่อได้ม้วนเส้นยืนแล้ว ช่างฝีมือก็จะทอด้วยวิธีจกลวดลายตามแบบที่ได้สืบทอดกันมา ส่วนเส้นพุ่งจะกรอเส้นด้ายเข้าหลอดด้วยตนเอง เพราะเป็นขบวนการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อนแต่ประการใด

ปริมาณการผลิต
สมาชิกสหกรณ์ฯ สามารถผลิตผ้าจกรวมกันเดือนละโดยประมาณ 2,000 ผืน
กลุ่มผู้ประกอบการ/ ผู้ผลิต
สหกรณ์การเกษตรไท-ยวน ราชบุรี จำกัด   ตำบล คูบัว อำเภอ เมือง   จังหวัด ราชบุรี   จำนวนสมาชิก  300 คน  ที่อยู่ 101 หมู่ที่ 6 ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี  
โทรศัพท์  032-323197,07-0259088,01-7631989,01-7050406
สถานที่จำหน่าย
- 1.ศูนย์สืบทอดภูมิปัญญาไทย ตั้งอยู่บริเวณจิปาถะภัณฑสถานบ้านคูบัว วัดโขลงสุวรรณคีรี ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
2.สถานที่ราชการจัดให้มีการจำหน่ายสินค้า OTOP ตามแต่โอกาส
3.จำหน่ายต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา,สวิสเซอร์แลนด์,ศรีลังกา,จีน


สถานที่ที่ไปทำการศึกษา  (จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว)


จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว ตั้งขึ้นด้วยความริเริ่มขององค์กร อาทิ วัดโขลงสุวรรณคีรี มูลนิธิพัฒนาประชากรตำบลคูบัว สมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนวัดแคทราย ศูนย์สืบทอดศิลปะผ้าจกราชบุรี ชมรมชาวไท-ยวน ราชบุรี   โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี สมาคมต่าง ๆ ได้ร่วมกันก่อสร้าง        ตัวอาคารแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2546 จากนั้นจึงมอบหมายให้ ดร.อุดม สมพร มูลนิธิพัฒนาประชากรตำบลคูบัว เป็นประธานกรรมการจัดตกแต่งและจัดแสดงภายในรวมทั้งเป็นวิทยากรกิตติมศักดิ์ด้วยนอกจากนี้ภายนอกอาคารด้านขวามือยังเป็นอาคารเอนกประสงค์ที่ใช้เป็นที่รวมกลุ่มของชาวบ้าน  ในพื้นที่ ใช้เป็นศูนย์ฝึกและศูนย์สาธิตการทอผ้าจก และทางด้านหน้าของอาคารมีเรือนไท-ยวนโบราณให้ศึกษา     อีกด้วยภายในอาคาจิปาถะภัณฑ์ แบ่งห้องแสดงไว้หลายห้อง เช่น ห้องแสดงศิลปวัตถุโบราณสมัยทวราวดี         ห้องแสดงวิถีชีวิตของชุมชนไท-ยวน เป็นต้น

ส่วนแสดงห้องที่ 1 : แสดงภูมิปัญญาสมัยทวารวดี
        พื้นที่ตำบลคูบัวในพุทธศตวรรษที่ 11 - 16 เคยเป็นเมืองโบราณสมัยทวารวดีมาก่อน มีเนื้อที่ประมาณ 2,310 ไร่เศษ มีโบราณสถาน ที่กรมศิลปากรดำเนินการขุดค้นและตกแต่งจำนวน 44 แห่ง ระยะ ระหว่าง พ.ศ.2505 - 2506 ซึ่งก่อนหน้านั้นชาวบ้านคูบัวไม่รู้ว่าที่บริเวณดังกล่าวเป็นโบราณสถาน จึงได้พัฒนาพื้นที่เพื่อทำการเกษตรขุดไถปรับพื้นที่ทำนา ทำไร่ ส่วนไหนเป็นโคก เป็นดอน ก็ไถเอาเศษอิฐ เศษวัตถุโบราณ  ไปทับถมรวมกันเป็นกอง เมื่อเจอเศียรพระพุทธรูปหรือศิลปวัตถุบางชิ้น เช่น แก้ว แหวน เงิน ทอง ลูกปัด หน้ากากทองคำ ก็นำไปขายที่ร้านทอง ส่วนที่ปรักหักพังขายไม่ได้ ก็นำไปไว้ที่วัดโขลงสุวรรณคีรี ต่อมาเมื่อคณะกรรมการดำเนินการจัดสร้างจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว ได้นำวัตถุโบราณที่เป็นเศษเหลือมาจัดแสดงในห้องนี้

แสดงห้องที่ 2 : แสดงเครื่องมือทำมาหากิน
        เครื่องมือทำมาหากินได้แสดงไว้ในส่วนแสดงห้องที่ 2 มีอุปกรณ์ เครื่องไถนา เครื่องจับดักสัตว์ และ ของใช้ต่าง ๆ ที่หาได้

 ส่วนแสดงห้องที่ 3 : มุมหลับนอนสอนลูกหลาน
        ในห้องนี้แสดงให้เห็นวิถีชีวิตชาวไท - ยวน ซึ่งพ่อแม่ลูกหลาน จะนอนอยู่ในห้องเดียวกัน ได้ดูแลและอบรมสั่งสอนอย่างใกล้ชิด ซึ่งก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางสายเลือด

ส่วนแสดงห้องที่ 4 : แสดงการระคมความคิดของคนในชุมชน
        ในห้องนี้เป็นมุมที่มีการตกแต่ง จำลองภาพ ผู้นำชุมชนในแต่ละภาคส่วน เช่น การระดมสมอง          การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย และผู้นำทางจิตวิญญาณ
   
ส่วนแสดงห้องที่ 5 : แสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไท - ยวน
        ในห้องนี้มีครัวของชาวไท - ยวน ซึ่งประกอบด้วยก้อนเส้า เตาไฟ และอุปกรณ์หุงข้าวต้มแกง บรรยากาศของห้องครัวเหมือนสถานที่จริง  จะได้กลิ่นกระเทียม หอม พริก และปลาแห้ง ในสมัยที่นั่งไม่มี  ตู้กับข้าว ชาวไท - ยวน ใช้สะโตกซึ่งเป็นกล่องไม่มีฝาครอบใส่กับข้าว ข้างครัวโบราณมีการจัดครัวสมัยใหม่เพื่อเปรียบเทียบ
        ถัดจากครัวเป็นที่สำหรับอยู่ไฟ ในสมัยโบราณเมื่อผู้หญิงคลอดลูกแล้วจะต้องอยู่ไฟให้ครบเดือน เรียกว่าอยู่เดือน เชื่อกันว่าใครอยู่ไม่ถึงเดือน ร่างกายก็จะอ่อนแอ เจ็บป่วยอยู่เสมอ

ส่วนแสดงห้องที่ 6 : แสดงเรื่องทำมาหากินของไท - ยวน
        ในส่วนนี้แสดงให้เห็นวัฒนธรรมบางส่วน เกี่ยวกับข้าวของ ชาวไท – ยวน

ส่วนแสดงห้องที่ 7 : ห้องโถงสำหรับจัดนิทรรศการ
     ส่วนนี้เป็นห้องโถงสำหรับแสดงนิทรรศการหมุนเวียนและเป็นห้องจัดสัมมนาของหน่วยราชการ สถานศึกษาในชุมชน หรือใช้จัดประชุมกลุ่มย่อย ๆ ของชาวบ้าน ภายในห้องมีพระประธานศิลปะเชียงแสง สิงห์ 1 สิงห์ 2 สิงห์ 3

ส่วนแสดงห้องที่ 8 : ภูมิปัญญาทอผ้าจก
        ส่วนนี้เป็นส่วนที่แสดงภูมิปัญญาทอผ้าจกของชาวไท - ยวน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาอยู่ในสายเลือดของชาวไท - ยวน ทุกคน


 ส่วนแสดงห้องที่ 9 : ห้องอนุรักษ์ผ้าโบราณ
        ส่วนนี้เป็นห้องแสดงผ้าซิ่นตีนจกโบราณของชาวไท - ยวน และผ้าจกสมัยปัจจุบัน มีไว้ให้เปรียบเทียบจำนวนมากมาย

ส่วนแสดงห้องที่ 10 : ห้องชาติพันธุ์ในจังหวัดราชบุรี
        ส่วนนี้แสดงเครื่องแต่งกาย สถาปัตยกรรม ที่อยู่อาศัย รูปลักษณ์ และเรื่องราวของแต่ละชาติพันธุ์       ในราชบุรี เช่น ไท - ยวน ไท - ทรงดำ ไท - มอญ ไท - จีน ไท -กะเหรี่ยง ไท - ลาวเวียง ไท - พื้นถิ่น และ    ผ้าของชาวติมอร์ตะวันออก

              
เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. ( ควรติดต่อล่วงหน้าก่อนเข้าชม ) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่  โทร.  0 1763 1989 ( ดร.อุดม สมพร )
การเดินทาง
        เส้นทางสายเก่า สายเพชรเกษม ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านบางแค-อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่-นครชัยศรี-นครปฐม-ราชบุรี
        เส้นทางสายใหม่ เส้นทางหลวงหมายเลข 338 จากกรุงเทพฯ-พุทธมณฑล-นครชัยศรี          เข้าถนน-เพชรเกษมบริเวณอำเภอนครชัยศรีก่อนถึงตัวเมืองนครปฐมประมาณ 16 กิโลเมตร จากนั้นใช้ถนนเพชรเกษม   ตรงไปตัวเมืองราชบุรีหรือใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานคร สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1543
ตัวอย่างการสัมภาษณ์
ผู้ให้สัมภาษณ์ : ชื่อ  ดร.อุดม สมพร (บุคคลดีเด่นของชาติ ประจำปี 2541 สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิคนไทย ด้าน อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น)  ( วันที่ให้สัมภาษณ์ 15 กันยายน 2555)
      
                   
               
                                            
                ประเด็นในการสัมภาษณ์
  1.       เพราะเหตุใดจึงมีการจัดตั้ง จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว

ตอบ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานและเป็นร่องรอยถึงตระกูลของชาวราชบุรี ของคนคูบัวที่เคยอยู่ที่นี่ว่ามีภูมิปัญญาอย่างไร มีวิถีชีวิตอย่างไร เราต้องการจะเชิดชูและรำลึกถึงบรรพบุรุษ

          2. จุดเด่นของ จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัวคืออะไร
ตอบ ทางจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัวมีความเป็นกันเองกับผู้เข้าชม ไม่ได้มีการใส่ตู้กระจกไว้ เราจะเข้าไปจับหรือเข้าใกล้ชิดอย่างไรก็ได้ ซึ่งตรงนี้คือจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครของที่นี่

3.    เพราะเหตุใดจึงคิดทำผ้าจกไท-ยวน บ้านคูบัวขึ้นมาเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกประจำจังหวัดราชบุรี
 ตอบ ใช้เป็นอาชีพได้ เมื่อเป็นอาชีพได้แล้วชาวบ้านก็ทอผ้าจกและได้เป็นรายได้ ถ้ามัวแต่ไปฟื้นฟูที่         อื่นเราก็ไม่สามารถที่จะนำไปกอบเป็นอาชีพและไม่เกิดเป็นรายได้นั่นเอง

4.   ลักษณะเด่นของผ้าจกไท-ยวนบ้านคูบัว” คืออะไร
ตอบ “พื้นสีดำ จกด้วยสีแดง แซมด้วยสีเหลืองหรือเขียว จะเห็นสีแดงเป็นหลักเด่น”

 5.  ทาง จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัวมีการคิดต่อยอดองค์ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างไร
 ตอบ มีการคิดต่อยอดในเรื่องของการขยายตัวอาคารออกไปเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ แต่ขณะนี้ก็ยังไม่   สามารถดำเนินการได้เนื่องจากพื้นที่ยังไม่มี และอีกหนึ่งปัญหาคือขณะที่มีการสร้างจิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัวในปัจจุบันมีกลุ่มคนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยหาว่านำพื้นที่วัดมาหากินนั่นเอง

สรุป
      ในปัจจุบันนี้การทอผ้าจกคูบัวได้กลายเป็นอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการอนุรักษ์การทอผ้าโบราณไม่ให้สูญหายไปกับกาลเวลาอีกด้วย(จะมีความประณีต และละเอียดอ่อนมาก)  ชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ลูก อยู่พร้อมหน้ากันไม่ต้องเร่ร่อนไปหาทำงานในโรงงาน  เพราะฉะนั้นสังคมครอบครัวก็เป็นสุข
        ดังนั้น คนไทยทุกคนควรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์รักษาวัฒนธรรมไทยที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของเราให้คงอยู่ต่อไป โดยเรื่องของ OTOP ก็เป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอดภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่ ความงามเหล่านี้ก็จะไม่สูญหายไปกับกาลเวลา

  

อ้างอิง
จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว(เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของชุมชนบ้านคูบัว)   ที่อยู่ 101 หมู่ที่ 6 ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี  
โทรศัพท์  032-323197,07-0259088,01-7631989,01-7050406





1 ความคิดเห็น:

  1. สนุกมากค่ะใครสนใจถามมาได้น่ะค่ะ สถานที่จริงสวยงามมากค่ะ

    ตอบลบ